น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า แนวโน้มปัญหามิจฉาชีพแอบอ้างนำชื่อและรูปภาพคนอื่น ไปสร้างบัญชีโซเชียลปลอมทั้ง เฟซบุ๊ก เพจปลอม ไลน์ปลอม และ ไอจี เพื่อนำไปหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียชื่อเสียง โดยเฉพาะยิ่งถ้าผู้ที่ถูกแอบอ้างชื่อและโปรไฟล์เป็นดารา หรือคนมีชื่อเสียง ความเสียหายก็จะยิ่งขยายวงกว้าง เนื่องจากมักมีแฟนคลับหรือผู้ติดตามจำนวนมาก โอกาสที่จะมีเหยี่อหลงเชื่อก็ยิ่งเพิ่มจำนวนเช่นกัน ขณะที่เจ้าตัวก็เสี่ยงต่อการสูญเสียชื่อเสียง

โดย รูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยจากบัญชีโซเชียลสวมรอยเหล่านี้ได้แก่ หลอกยืมเงิน หลอกขายของ หลอกลงทุน หลอกร่วมทุน โดยเหยื่อที่หลงเชื่อจะสูญเงินโดยไม่ได้รับสินค้าหรือผลตอบแทนใดๆ นอกจากนี้ ยังมีการหลอกลวงที่เป็น Romance Scam หรือหลอกให้หลงรักและหลอกเงินเหยื่อผ่านทางออนไลน์ ขณะที่ บางกรณีจะเป็นการแอบอ้างตัวตนคนดัง สร้างเฟซบุ๊กปลอมเพื่อใช้เป็นพื้นที่โพสต์เนื้อหา หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อหมิ่นประมาทผู้อื่น เป็นต้น

น.ส. นพวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายซึ่งถูกแอบอ้างชื่อไปสร้างบัญชีโซเชียลปลอม เข้าถึงช่องทางความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพื่อเร่งยุติการขยายวงของความเสียหาย เร่งประสานงานเพื่อปิดบัญชีปลอม และติดตามมิจฉาชีพมาดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ ขอให้ผู้ที่ถูกแอบอ้างตั้งสติ และดำเนินการผ่าน 3 ช่องทางดังต่อไปนี้ประกอบกัน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการประสานการปิดบัญชีโซเชียลที่แอบอ้าง ได้แก่

1.แจ้งรายงานไปที่แพลตฟอร์มโซเชียล โดยการ report ไปยังเว็บไซต์ผู้ให้บริการ Social Network ที่ถูกแอบอ้าง ซึ่งทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และ ไอจี มีเมนูให้รายงานบัญชีปลอมโดยตรงอยู่แล้ว จากนั้นรอขั้นตอนการตรวจสอบของทางแพลตฟอร์ม

2.ช่องทางของกระทรวงดีอีเอส ที่สายด่วน โทร.1212 OCC ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็คด้า ในสังกัดดีอีเอส รวมถึง ช่องทางอื่นๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงดีอีเอส

และ 3.แจ้งตำรวจ ทั้งการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยให้รวบรวมหลักฐานไว้ เช่น capture จับภาพหน้าจอสนทนา หรือหน้ารูป Proflie ที่ถูกปลอมขึ้นมา

รวมทั้งสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยต้องลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูลบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนด้วย ก่อนกรอกข้อมูลอื่นๆ ตามขั้นตอน ที่สำคัญ คือข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดี ทั้งข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งและข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาเท่าที่ทราบได้แก่ ชื่อ นามแฝง เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารที่ใช้ในการทำธุรกรรม ช่องทางติดต่ออื่นๆ เช่น Line, Facebook, Instagram, Twitter เป็นต้น รวมถึงรูปแบบคำโฆษณาของมิจฉาชีพ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลคดีอื่นๆ ที่เคยแจ้งมาก่อน และจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบหาคนร้ายที่ทำในรูปแบบขบวนการ

“ที่ผ่านมากระทรวงฯ มีการเร่งประสานกับแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก เพื่อทำการปิดเฟซปลอม/ปิดกั้นเพจปลอม ภายหลังได้รับการแจ้งจากประชาชน ตลอดจนประสานการทำงานกับทางตำรวจ ในการช่วยรวบรวมและส่งมอบหลักฐานต่าง ที่เกิดขึ้นบนช่องทางโซเชียล/ออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว” น.ส.นพวรรณ กล่าว