สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) ออกแถลงการณ์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา “ขอความร่วมมือ” ให้สมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ลดปริมาณการใช้ก๊าซภายในประเทศของตัวเองให้ได้ 15% ระหว่างเดือน ส.ค.ปีนี้ จนถึงเดือน มี.ค.ปีหน้า โดยอีซีกำหนดแนวทางการคำนวณ ว่าขอให้รัฐบาลของแต่ละประเทศอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยการใช้ก๊าซ ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่างปี 2559-2564


การประกาศดังกล่าวของสหภาพ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อสำรองก๊าซธรรมชาติในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ให้ได้ 80% ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยปัจจุบันปริมาณก๊าซในคลังสำรองของอียูอยู่ที่ประมาณ 65%


ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้รัสเซีย กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ว่า ปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ “นอร์ดสตรีม 1” ลอดผ่านใต้ทะเลดำ จากรัสเซียสู่เยอรมนี จะลดลงอีกจาก 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เหลือ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเหลือเพียง 1 ใน 5 ของปริมาณการส่งปกติ ตราบใดที่การซ่อมบำรุงระบบคอมเพรสเซอร์ “ยังคงล่าช้า”


ปูติน กล่าวต่อไปอีกว่า จริงอยู่ที่บริษัทซีเมนส์ในแคนาดาส่งชิ้นส่วนซึ่งผ่านการซ่อมบำรุงกลับมาให้แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของ “คุณภาพ” จึงอาจทำให้ต้องมีการปิดระบบทั้งหมดเพื่อซ่อมแซมครั้งใหม่ในอนาคต สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นชี้ชัดว่า “เป็นความผิดพลาด” ของแคนาดา และเกี่ยวเนื่องกับมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก


แม้รายงานจากหลายกระแสระบุตรงกัน ว่ารัสเซียจะกลับมาเปิดท่อนอร์ดสตรีม 1 ตามกำหนดในวันที่ 21 ก.ค. หลังปิดซ่อมมานาน 10 วัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซที่ส่ง “จะไม่มากเท่าเดิม”


ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) คาดการณ์ว่า ฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก จะเป็นสามประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หากรัสเซียขยายระยะเวลาระงับส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ขณะที่ เยอรมนี ออสเตรีย และอิตาลี จะเผชิญกับความเดือดร้อน “รุนแรงไม่แพ้กัน” เนื่องจากจนถึงตอนนี้ อียูและรัฐบาลของประเทศสมาชิกรายใหญ่ ยังไม่สามารถกำหนดแผนการได้อย่างจริงจัง ว่าจะรับมือและฝ่าฟันวิกฤติพลังงานครั้งนี้อย่างไร.

เครดิตภาพ : REUTERS