นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัย และผลงานได้เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับรางวัล “ศิลปาธร” แล้วทั้งสิ้น 1 พระนาม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) และอีก 94 รายชื่อ

ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์
หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ
สถาพร จรดิฐ หรือนามปากกา “จเด็จ กำจรเดช”

สำหรับปี 2565 รางวัล “ศิลปาธร” จำนวน 7 สาขา ดังนี้ 1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีความโดดเด่น มีผลงาน ‘A Shadow of Giving’ จัดแสดงในงาน Bangkok Art Biennale (BAB) 2018 ได้รับเลือกให้แสดงผลงานใน The 21st Biennale of Sydney และได้จัดนิทรรศการเดี่ยว “”Existence of Void” ณ หอศิลป์วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2.สาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ หม่อมหลวง วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่ทำงานออกแบบผลงานที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกับวัฒนธรรมและสังคมไทย ตลอดจนบริบทของสภาพแวดล้อมนั้นๆ มีผลงานเด่น คือ โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา 1 ใน 9 “ห้องเรียนพอดีพอดี” จากโครงการเยียวยาช่วยเหลือสถานศึกษา ที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ใน จ.เชียงราย, โครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ, โครงการศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา จังหวัดนครราชสีมา 3.สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายสถาพร จรดิฐ หรือนามปากกา “จเด็จ กำจรเดช” เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2554 และ 2563

ชัยภัค ภัทรจินดา
ศรวณีย์ ธนะธนิต

4.สาขาดนตรี ได้แก่ นายชัยภัค ภัทรจินดา ศิลปินผู้เป็นทั้งนักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน และนักดนตรีที่มีความสามารถทั้งด้านดนตรีไทยและดนตรีสากล สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2530 เป็นผู้ประพันธ์ บรรเลง เรียบเรียง บันทึกเสียง เพลงประกอบละครอาทิมงกุฏดอกส้ม, ด้วยแรงอธิษฐาน, ดั่งดวงหฤทัย, สี่แผ่นดิน, ทองเอก หมอยาท่าโฉลง เป็นต้น เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ นางนวล, อำแดงเหมือนและนายริด, สุริโยไท, ขุนแผน, Beautiful Boxer, 15 ค่ำ เดือน 11, โหมโรง, มหา’ลัย เหมืองแร่ เป็นต้น 5. สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ น.ส.ศรวณีย์ ธนะธนิต คนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกคณะบัลเลต์ American Ballet Theatre และเป็นคนไทยเพียงหนึ่งเดียวในฐานะนักแสดงนำ คณะแกรนด์ บัลเลต์ เด เจนีฟ์ คณะเต้นรำร่วมสมัยจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 6.สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ นายนครินทร์ ยาโน เจ้าของแบรนด์ “Yano” งานออกแบบจากผ้าทอมือ และ 7. สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ นายลี ชาตะเมธีกุล ศิลปินนักลำดับภาพผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ไทย ได้รางวัลในระดับนานาชาติรางวัล Asian Film Awards ถึง 3 สมัย ในสาขาการลำดับภาพ จากภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ, Karaoke และ Apprentice

นครินทร์ ยาโน เจ้าของแบรนด์ “Yano”
ลี ชาตะเมธีกุล

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า สศร. จะมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้กับศิลปินทั้ง 7 ท่าน พร้อมเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติฯ และกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ของศิลปินศิลปาธร ต่อไป ทั้งนี้ศิลปินศิลปาธร นับเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม อันเป็นทุนทางวัฒนธรรมนำมาต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ อุทิศกำลังเวลา ความคิด ทักษะและประสบการณ์ความรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์ ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ