รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027 (แยกท่าเรือ) รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเสนอ EIA ให้หน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาเห็นชอบ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 67 และเปิดให้บริการปี 70

สำหรับโครงการนี้ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างเบื้องต้น 2,365 ล้านบาท เนื่องจากรูปแบบการปรับปรุงบริเวณพื้นที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร โดยรูปแบบการเข้าออก เพื่อสักการะองค์อนุสาวรีย์ จะเป็นรูปแบบอุโมงค์ทางเดินลอด จึงมีความจำเป็นต้องทำการเวนคืนในโครงการ เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างทางขึ้นลงรวม 1,574 ตร.ม. แบ่งเป็น พื้นที่หัวมุมห้างโรบินสัน 967 ตร.ม. และพื้นที่หัวมุมห้างขายปลีกเครื่องประดับ 607 ตร.ม.

โครงการนี้ ทล. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท กรุงเทพเอ็นยิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นทิค จำกัด ดำเนินการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันแยกท่าเรือเป็นทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะเป็นทางหลวงสายหลักที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าภายใน จ.ภูเก็ต และจัดการจราจรในลักษณะวงเวียน ทำให้เกิดความไม่สะดวก และความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งทางหลวงสายนี้มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการขยายถนน

การออกแบบปรับปรุงทางแยกได้สำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมอย่างละเอียด รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมประชาชน เพื่อออกแบบโครงการได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับในพื้นที่โครงการมีแหล่งโบราณสถานอยู่ในระยะ 1 กม. ทำให้เข้าข่ายต้องทำ EIA ก่อนพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ได้พิจารณาร่วมกับข้อจำกัดด้านเขตทางคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และโครงการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ระบบรถไฟฟ้ารางเบาของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาประกอบในการออกแบบ

รูปแบบโครงการเป็นทางลอดขนาด 3 ช่องจราจรลอดใต้อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ในแนวทางหลวงหมายเลข 402 ทิศทางออกนอกเมืองจะมี 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.25 เมตร และทิศทางเข้าเมืองจะมี 1 ช่องจราจรความกว้าง 4.50 เมตร ส่วนด้านบนจะมีทางขนานฝั่งละ 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.00 เมตร มีทางเท้ากว้าง 2.1-2.7 เมตร และด้านบนทางลอดคงรูปแบบวงเวียนขนาด 2 ช่องจราจร วนรอบอนุสาวรีย์ พร้อมออกแบบระบบสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยกเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้มีงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม แนวคิดได้พิจารณาจากการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพในกรอบงบประมาณโครงการที่เหมาะสม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแลนด์มาร์คที่สำคัญของ จ.ภูเก็ต โดยออกแบบ-ปรับปรุงเป็นทางเดินลอด เพื่อมายังอนุสาวรีย์ฯ และใช้เป็นทางคนเดินลอดที่เดินมายังอีกฝั่งหนึ่งได้ปลอดภัย มีรายละเอียดดังนี้

การออกแบบยกระดับลานอนุสาวรีย์ด้านบนให้สูงขึ้นจากระดับถนนประมาณ 0.90 ม. พร้อมกับยกฐานองค์อนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อให้มีความสง่างาม สวยงาม และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง และออกแบบให้มีทางเดินลอดเพื่อบริการประชาชนที่จะเดินทางมาสักการะองค์อนุสาวรีย์ฯ และสามารถไปอีกฝั่งหนึ่งได้อย่างปลอดภัย โดยมีจุดขึ้น-ลงทางลอดบริเวณหน้าห้างขายปลีกเครื่องประดับ เซาท์อีสต์ เอเชีย คาเธ่ย์ เจมส์ ภูเก็ต และที่ห้างโรบินสัน

ส่วนบริเวณอาคารจุดขึ้นลงจะมีบันได ลิฟท์ สำหรับบริการประชาชนทุกวัย และจัดพื้นที่ลานสักการะให้เปิดโล่งบางส่วน และอยู่ระดับเดียวกับหลังคาทางลอด เพื่อปรับภูมิทัศน์ด้านบนให้ดูโล่ง ไม่ดูวุ่นวาย สร้างทัศนวิสัยที่ดีแก่ผู้ใช้เส้นทาง และส่งเสริมให้องค์อนุสาวรีย์ฯ มีความสง่างาม

ส่วนพื้นที่ภายในบริเวณอนุสาวรีย์ ประกอบด้วย 1.โถงอเนกประสงค์ (จัดแสดงเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ได้) 2.ลานสักการะองค์อนุสาวรีย์ฯ (กดลงที่ระดับหลังคาทางลอด) 3.ทางเดินลอด 4.ห้องเครื่องงานระบบไฟฟ้า-เครื่องกล และ 5.ทางออก เช่น บันไดหรือประตูหนีไฟ ทั้งนี้ประชาชนมีทางเลือกจอดรถไว้ที่พิพิธภัณฑ์ถลาง ห้างขายปลีกเครื่องประดับ เซาท์อีสต์ เอเชีย คาเธ่ย์ เจมส์ ภูเก็ต หรือห้างโรบินสันได้ นอกจากนี้ทัศนียภาพบริเวณโครงการออกแบบให้มีพื้นที่ด้านหน้าบริเวณลานสักการะ เพื่อรักษาซึ่งบริบทเดิม โดยให้ประชาชนขึ้นไปสักการะที่ระดับลานฐานอนุสาวรีย์ฯ ได้บางส่วน โดยการเล่นระดับของผนังกำแพงด้านหน้าอนุสาวรีย์ฯ เพื่อไม่ให้ดูทึบตันและให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับองค์อนุสาวรีย์ฯ มากขึ้น

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจราจรและการขนส่งให้สามารถเดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจประเทศ และลดปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน สนับสนุนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความปลอดภัยในการสัญจร และพัฒนาคุณภาพให้บริการระบบทางหลวง