ผมฝังตัวพูดคุยกับผู้ตัดสิน ผู้แข่งขัน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผู้จัดงาน และผู้ชมจึงได้รวบรวมเทรนด์และความคิดเห็นวงในชาว Start Up มาเล่าสู่กันฟัง…

“การพัฒนายูนิคอน” มีปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือ 1.ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ปีนี้นับว่าดีขึ้นมาก มีนวัตกรรมที่แปลกใหม่หลากหลายสาขาน่าสนใจ 2.ความเป็นไปได้ของธุรกิจและความสามารถในการขยายตัว ปีนี้มีทั้งด้านที่ดีขึ้น และด้านที่แย่ลง ถ้าทีมใดมีทีมงานที่มีนักการตลาด นักบริหาร อาจารย์ที่เคยทำงานจริงกับภาคธุรกิจ ทีมนั้นจะไปได้ดีมาก แต่ทีมใดมีแต่นวัตกร ขาดผู้เชี่ยวชาญธุรกิจ หรือมีอาจารย์คณะบริหารที่เก่งแต่ทฤษฎี ไม่เคยทำงานจริง ทีมนั้นจะตกรอบต้น ๆ แบบง่าย ๆ ซึ่งเราเห็นทีมแบบนี้มากขึ้น 3.ความยั่งยืน ปีนี้เราเห็น Passion ของ Start Up ที่เข้าใจด้านนี้ลดลงไปมาก ทีมส่วนใหญ่อธิบายความยั่งยืนแบบแถ ๆ อ้าง ESG ตามแฟชั่น ตาม Check box เอาสติกเกอร์ SDG ข้อที่ใกล้เคียงมาแปะให้ดูสวยงาม แต่ไม่เข้าใจ ดูดีในเอกสาร และผ่านกรรมการทั่วไปมาได้ แต่พอเจอคำถามจากกรรมการความยั่งยืนแทบไปไม่เป็น ทีมใดโดดเด่นก็จะเข้ารอบไปชิงรางวัลยั่งยืนแบบง่าย ๆ เพราะปีนี้มีทีมที่ก่อตั้ง Start Up ด้วยความตั้งใจจะแก้ปัญหาความไม่ยั่งยืน SDG น้อยมาก เดาได้ว่าคงเป็นปัญหาจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ที่อาจารย์ ยังขาดความเข้าใจ และขาดประสบการณ์ด้าน SDG และวิทยาลัยการจัดการชื่อดังที่ชูเรื่องความยั่งยืนเป็นจุดขาย ก็อาจจะเป็นแค่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ดูดี แต่เนื้อในไม่มีจริง

“นวัตกรรมแบบไหนมาแรงบ้าง” ที่เห็นเยอะมากก็คือ ทีมที่เปลี่ยน Waste เป็น Value นำขยะ ของเหลือทิ้งต่าง ๆ มาเปลี่ยนเป็นนวัตกรรมสร้างรายได้ เป็น BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน และพอเพียง Sufficient มาแรงที่สุด หลาย ๆ ทีมเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ Biotech ใช้ขบวนการสิ่งมีชีวิตมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลายทีมเป็น Food Tech ที่เป็นทั้งอาหาร และยา ทำให้คุณภาพชีวิต
และสุขภาพของมวลมนุษยชาติดีขึ้น หลายทีมเป็นนวัตกรรมที่เจาะกลุ่มตลาดที่กำลังขยายตัวเร็ว เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม Gen Z และ Alpha ที่เห็นเริ่มมาแรง และน่าสนใจคือกลุ่ม Space Tech ที่มาจากอวกาศ และดาวเทียม ที่เห็นลดน้อยลงไปมาก คือพวกที่เป็น App ต่าง ๆ ที่กำลังล้นตลาด

สำหรับในปีนี้ ทีมชนะเลิศ ได้แก่ “ProPika” จากมหาวิทยาลัย Arkansas อเมริกา ซึ่งเป็นการนำขยะทางการเกษตร ที่แทนที่จะเผาทิ้งเป็นฝุ่นควัน หรือถมดินนำมาเข้าขบวนการแยกเส้นใย เพื่อเป็นส่วนผสมในนํ้ามันเครื่องบิน ที่ลดโลกร้อนได้มาก และ ทีมที่ชนะรางวัลความยั่งยืน ได้แก่ “MetaCycler Bioinnovation” จากมหาวิทยาลัย Waterloo แคนาดา ซึ่งเป็นการนำขยะจากนมวัวที่ไม่ได้มาตรฐานเหลือทิ้ง และของเสียจากโรงงานผลิตนมมาแปรรูปด้วยจุลินทรีย์เพื่อทำเม็ดพลาสติก นำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับพลาสติก
ชีวภาพที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.