สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ซ้อมรบครั้งใหญ่ใน “พื้นที่ยุทธศาสตร์ 6 จุด” รอบเกาะไต้หวัน เมื่อวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่สองของภารกิจ โดยเรือรบและอากาศยานทางทหาร รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ และเครื่องบินขับไล่ ต่างเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตแดนของช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงกลาโหมของไต้หวัน ยังคงสังเกตการณ์การซ้อมรบของพีแอลเออย่างใกล้ชิด


ทั้งนี้ การที่พื้นที่ซ้อมรบของพีแอลเออยู่รายล้อมเกาะไต้หวัน เท่ากับเป็นการกีดขวางเส้นทางเดินเรือบรรทุกสินค้าโดยปริยาย แม้รัฐบาลไต้หวันยืนยันว่า ท่าเรือทุกแห่งบนเกาะยังคงให้บริการตามปกติ เพื่อให้การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียตะวันออก กับสหรัฐและยุโรปยังคงเป็นไปอย่างราบรื่น แต่มีรายงานว่า เรือบรรทุกสินค้าหลายลำตัดสินใจเบี่ยงเส้นทาง โดยไม่ผ่านช่องแคบไต้หวัน แต่อ้อมไปเทียบท่าทางตะวันออกแทน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพีแอลเอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อกระบอกเสียงของทางการจีน เกี่ยวกับการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวัน


ขณะที่ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ผู้นำไต้หวัน ประณามการซ้อมรบของพีแอลเอ และยืนยันความพร้อมของรัฐบาลไทเป ในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน หลังพีแอลเอยิงขีปนาวุธ “ตงเฟิง” จำนวน 11 ลูก ลงทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน ในการซ้อมรบวันแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ด้านพีแอลเอยืนยันมีการยิงขีปนาวุธจริง แต่ไม่ได้ระบุจำนวนลูก กระนั้นนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2539 ที่พีแอลเอยิงขีปนาวุธลงทะเลนอกชายฝั่งของไต้หวัน


ด้านทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ประณามการซ้อมรบของพีแอลเอ ส่วนนายโนบุโอะ คิชิ รมว.กลาโหมญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลโตเกียวดำเนินการร้องเรียนตามช่องทางการทูตไปถึงรัฐบาลปักกิ่ง เนื่องจากมีขีปนาวุธของพีแอลเอ 5 ลูก ตกลงในทะเลที่ญี่ปุ่น ถือเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา


ต่อมา กระทรวงกลาโหมของจีนออกแถลงการณ์ ประณาม “การสมคบคิด” ระหว่างสหรัฐกับไต้หวัน ที่นำไปสู่การยั่วยุครั้งนี้ มีแต่จะยิ่งทำให้ไต้หวันต้องเป็นฝ่ายเผชิญกับหายนะมากขึ้นเท่านั้น หมายถึงการที่นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เยือนกรุงไทเป เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐคนแรกในรอบ 25 ปี ที่เดินทางมายังไต้หวัน


ในอีกด้านหนึ่ง สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่แถลงการณ์ของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ ว่าจับตาสถานการณ์ที่ช่องแคบไต้หวัน ด้วยความวิตกกังวลอย่างยิ่ง พร้อมทั้งยืนยันว่า ยูเอ็นยึดมั่นต่อหลักการ “จีนเดียว”.

เครดิตภาพ : REUTERS