เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) สำนักการโยธา (สนย.) สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร (สนง.) และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (สยป.) โดยมี ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเข้าประชุมและชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ

นายวิรัช คงคาเขตร ประธานอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักการวางผังฯ ได้รายงานที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ว่า จากการประชุมและลงพื้นที่ติดตามข้อเท็จจริงการขอจัดสรรงบประมาณของสำนักการวางผังฯ พบว่างบประมาณมีความสอดคล้อง และมีความคุ้มค่ากับการดูแลประชาชนทุกรายการ จึงมีมติเห็นชอบกับงบประมาณของ สวพ.

จากนั้นประธานอนุกรรมการฯ ได้นำ คณะผู้บริหารสำนัก รายงานภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสวพ. ประกอบด้วย 1. ชี้นำการพัฒนากายภาพของเมืองเพื่อการพัฒนาเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผ่านการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2. ดำเนินการวางและจัดทำผังเมือง วางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะ การวางผังเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการพัฒนาเมือง  3. ควบคุมและตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร  4.อนุรักษ์ ฟื้นฟูโบราณสถานและอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง  5. จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ปิดล้อม ไม่มีทางเข้า-ออก 6. จัดทำและปรับปรุงแผนที่พื้นฐานของกรุงเทพมหานครให้ทันสมัย เพื่อใช้ประโยชน์ในภารกิจต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ผังเมืองกรุงเทพมหานครจะมีการปรับทุก ๆ 6 ปี เพื่อให้มีการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การขยายตัวของเมือง และทิศทางการเติบโตของเมือง โดยกำหนดเป็นสี และการกำหนดผังเมืองใหม่จะมีการประชาพิจารณ์ทุกครั้ง ตามข้อกำหนดของกรมโยธาธิการ

ซึ่งทางสวพ.ได้ดำเนินการมากกว่าที่กรมโยธาธิการกำหนด รวมถึงมีการจัดทำประชาพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ผู้บริหารสำนักการวางผังฯ ยังได้ตอบคำถามที่ประชุม ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดทำมาตรการโอนสิทธิการพัฒนาของอาคารประวัติศาสตร์หรืออาคารอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และภารกิจอื่นของสำนักด้วย

ประธานคณะกรรมการวิสามัญ กล่าวว่า ผังเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเจริญเติบโตของเมืองขึ้นอยู่กับสำนักการวางผังฯ ราคาที่ดินก็อยู่ขึ้นอยู่ที่การดำเนินการของสำนักการวางผังฯ อย่างไรก็ตาม ข้อบัญญัติที่ออกมาก่อนหน้าการกำหนดผังเมืองบางครั้งก็มีปัญหากับประชาชนที่อาศัยอยู่เดิม  ซึ่งในประเด็นนี้ นายสมชาย เดชากร ผอ.สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ว่า ผู้ว่าฯกทม.ได้เตรียมที่จะแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในปัจจุบัน โดยจะเร่งนำร่างข้อบัญญัติเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณารายละเอียดในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ นายนภาพล จีระกุล ประธานอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักการโยธา ได้รายงานผลการปรับลดงบประมาณ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาภายใต้เหตุผลความจำเป็นอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ไม่สามารถดำเนินได้ตามงวดงาน

จากนั้นได้ให้นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา นำคณะผู้บริหารสำนักการโยธาเข้าชี้แจงรายละเอียดงบประมาณในส่วนของโครงการต่าง ๆ อาทิ เหตุผลความจำเป็นโครงการสำรวจจัดสร้างและปรับปรุงหมุดหลักฐานทางดิ่งและทางราบในบริเวณกรุงเทพมหานคร ปีงบประมาณ 2566-2567, โครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ,โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550, โครงการนำเข้าข้อมูลอาคาร 9 ประเภทที่จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารในพื้นที่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลอาคาร ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเข้าข้อมูลไปเพียง 1 กลุ่มเขตเท่านั้น, โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก ซึ่งคณะอนุกรรมฯ ได้ให้ข้อสังเกตจากการประชุมร่วมกันแล้ว และสำนักการโยธาจะนำไปใช้เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2562-2567) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความล่าช้าเนื่องจากผู้รับจ้างขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงขาดแคลนเครื่องจักรในส่วนงานเสาเข็ม ปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ ได้คลี่คลาย ผู้รับจ้างได้เร่งดำเนินการในส่วนของงานฐานราก ซึ่งเชื่อว่างบปี 66 จะสามารถนำไปใช้ได้มากขึ้น และสามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาสัญญา

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 2 (ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทางขึ้น-ลง) ขนาด 6 ช่องจราจร วงเงิน 925 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนงบประมาณออกเป็นงบรัฐบาล 50% งบ กทม. 50% ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว ซึ่งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงสร้างพิเศษขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบรวมถึงขั้นตอนการก่อสร้าง รวมทั้ง ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่าขอให้สำนักการโยธาเร่งรัดและติดตามโครงการภายใต้การดูแลให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับพี่น้องประชาชน อาทิ โครงการก่อสร้างถนนและทางเท้า และเมื่อกรุงเทพมหานครมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ก่อนการดำเนินการสำนักการโยธาควรเตรียมข้อมูลและสัญญาให้พร้อมและครอบคลุมทุกด้าน ในฐานะผู้แทนของกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้กรุงเทพมหานครสูญเสียประโยชน์

นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ประธานอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานครและสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ได้เข้าชี้แจงงบประมาณ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการพิจารณางบประมาณทั้งสองหน่วยงานในเบื้องต้นอย่างรอบคอบและมีการปรับลดอย่างเหมาะสม ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ในครั้งนี้.