รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ได้เตรียมแผนเสนอกระทรวงคมนาคม ขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 67 จำนวน 435,650,371 บาท เพื่อก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกหางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 32 (ทล.32 หรือถนนสายเอเชีย) กับ ทล.3212 (สายคุ้งสำเภา-หนองโพเชื่อม จ.ชัยนาท กับนครสวรรค์) หากได้รับอนุมัติงบฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จปี 70

ที่ผ่านมา ทล. เสนอของบฯ ก่อสร้างโครงการมาโดยตลอดเนื่องจากเป็นเส้นทางหลักเชื่อมกรุงเทพฯ สู่จังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจออกแบบโครงการ รวมทั้งจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับพิจารณางบ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลมีข้อจำกัดจัดสรรให้โครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนและที่มีความต่อเนื่องก่อน

ที่ปรึกษาได้ออกแบบทางแยกต่างระดับเป็น 2 ระบบคือทางยกระดับแบบวงเวียน (Round about Interchange) บนจุดตัดทางแยก ทล.32 กับ ทล. 3212 ขนาด 2 ช่อง กว้างช่องละ 4.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร พร้อมทางเท้ากว้าง 1.2 เมตร

ทำให้การเดินทางอิสระโดยไม่ติดสัญญาณไฟวิ่งเป็นวงกลมด้านทิศเหนือไปออก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ทิศใต้ไป อ.เมือง จ.ชัยนาท และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันออกไป ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันตกไป ต.คุ้งสำเภา จ.ชัยนาท รวมทั้งเชื่อม จ.อุทัยธานี ด้วย

โครงสร้างวงเวียนเป็นสะพานพื้นตัน ออกแบบสถาปัตยกรรมกลางวงเวียนเป็นเสาเหล็กคู่ขึงด้วยสายเคเบิ้ลไขว้ทะแยง ใช้ลวดลายธรรมจักรศิลาและเหรียญโบราณสะท้อนความเป็นมาของชุมชนโบราณและอัตลักษณ์ประจำจังหวัดคือพระธรรมจักร เพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่ท้องถิ่น ทั้งนี้ถือเป็นวงเวียนขึงยกระดับแห่งแรกในประเทศไทยของกรมทางหลวง จะเป็นต้นแบบนำไปใช้ก่อสร้างทางต่างระดับจุดอื่นในอนาคต

ส่วนทางลอดใต้วงเวียนบน ทล.32 ผ่านสี่แยกโดยไม่ติดสัญญาณไฟ จาก กม.138+050-139+625 ยาว 1,575 เมตร ผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 6 ช่อง หรือ 3 ช่องต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร

นอกจากนี้ยังออกแบบถนนคู่ขนานให้ผู้ใช้ ทล.32 และประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมทางใช้สัญจรเปลี่ยนทิศทางการจราจรสู่ ทล.3212 ได้ขนาด 2 ช่อง กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.7 เมตร พร้อมปรับปรุงทางเท้าและระบบระบายน้ำ โครงการใช้เขตทางเดิม ไม่ต้องเวนคืนบ้านเรือนประชาชน และที่ดินรวมทั้งสถานที่ราชการบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีจำนวนมาก

หากก่อสร้างได้จะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนโครงข่ายทางหลวงเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี และพื้นที่ต่อเนื่องได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางแยก