ที่ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) วันที่ 8 ส.ค. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหาร กทม. ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการบูรณาการแผนที่น้ำท่วมของสำนักการระบายน้ำ (สนน.) และสำนักงานเขต ตามตรอก ซอก ซอย (เส้นเลือดฝอย) ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. มอบนโยบายให้สำนักงานเขตรายงานจุดน้ำท่วมเข้ามา ล่าสุดได้บูรณาการข้อมูลลงในแผนที่เพื่อให้ทราบรายละเอียดน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามซอยย่อยต่างๆ โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองได้พัฒนาระบบการนำเข้าข้อมูลเส้นทางน้ำท่วมจากสำนักงานเขต และสำนักการระบายน้ำ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลบันทึกลงในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ประกอบด้วย

เส้นทางบนแผนที่ และข้อมูลน้ำท่วม เช่น สถานที่ วันเวลาที่น้ำท่วม ระดับน้ำท่วม ระยะทางที่น้ำท่วม พร้อมอัพโหลดรูปภาพประกอบ รวมทั้งทำหน้าจอแสดงผลแผนที่น้ำท่วมในภาพรวมของ กทม.และรายเขต ซึ่งจะบันทึกข้อมูลและแสดงผลผ่านมือถือ และคอมพิวเตอร์ได้

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบข้อมูลจุดน้ำท่วมเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่น Trafty Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) เพื่อนำข้อมูลตำแหน่งที่ประชาชนรายงานน้ำท่วมมาแสดงผล ร่วมกับระบบที่สำนักการวางผังฯ พัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า การเชื่อมต่อข้อมูลกับแอพฯทราฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถดูข้อมูลในแผนที่ ดูผลย้อนหลังจุดน้ำท่วมซ้ำซากหรือไม่ ตลอดจนฝนตกเท่าไหร่น้ำถึงท่วม เพื่อวางแนวทางป้องกันในอนาคต รวมถึงพยายามประมวลผลให้สื่อสารง่ายกับประชาชนด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติการรับแจ้งปัญหาเส้นเลือดฝอยในระบบ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.(เวลา 14.00 น.) มีทั้งหมด 118,797 เรื่อง ในจำนวนนี้ ดำเนินการเสร็จสิ้น 57,267 เรื่อง ประเภทปัญหาร้องเรียนมากสุดคือถนน (ร้อยละ 19) รองลงมาเป็นเรื่อง น้ำท่วม (ร้อยละ 6.7, ทางเท้า (ร้อยละ 5.7), แสงสว่าง (ร้อยละ5.5), ความปลอดภัย (ร้อยละ 4.9), ความสะอาด (ร้อยละ 4.1), สายไฟ (ร้อยละ3.3), สะพาน (ร้อยละ 2.9), จราจร (ร้อยละ 2.6), กีดขวาง (ร้อยละ 2.6), ท่อระบายน้ำ (ร้อยละ 2.5), คลอง (ร้อยละ 2.4) เป็นต้น.