สำหรับ 5 หน่วยงาน ที่มีการยื่นของบประมาณมากที่สุดนั้น ประกอบด้วย 1.สำนักการโยธา 8,274,064,200 บาท 2.สำนักการระบายน้ำ 6,466,581,500 บาท 3.สำนักสิ่งแวดล้อม 5,779,199,100 บาท 4.สำนักการแพทย์ 4,584,994,600 บาท 5.สำนักการจราจรและขนส่ง 3,126,273,600 บาท

โดยภารกิจต่างๆของหน่วยงาน ทั้งในสำนักปลัด สำนักบริหาร และสำนักงานเขต นั้นมีภารกิจผูกพันตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน…แต่ที่ถูกจับตามองและมีการพุ่งเป้าว่างบประมาณที่ขอไปทั้งก่อนหน้านี้และกำลังขอในปีงบประมาณ 2566 นั้นคุ้มค่าหรือไม่ ก็คือ สำนักสิ่งแวดล้อม ที่ยื่นของบ จำนวน 5,779,199,100 บาท เพื่อใช้ในภารกิจจัดการเก็บขยะ เป็นเสียส่วนใหญ่ และมีงานอื่นๆตามภารกิจหน้าที่

สำหรับโครงการส่วนใหญ่ของสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการผูกพันระยะยาว ที่น่าสนใจ คือ โครงการจ้างเอกชนกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ที่ศูนย์ฯกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช วงเงิน 5,789.63ล้านบาท โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานพร้อมเดินระบบกำจัดมูลฝอยเป็นเวลา 26 ปี เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ ทรัพย์สินต่างๆตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. (BOT) โครงการจ้างเอกชนกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ที่ศูนย์ฯกำจัดมูลฝอยหนองแขม วงเงิน 5,687.43ล้านบาท

นอกจากนั้นเป็นโครงการจ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยจากหลายสถานีไปยังสถานที่ฝังกลบ กำจัดขยะต่างๆ ซึ่งยังมีข้อสงสัยในหลายจุดของชุดกรรมการพิจารณางบประมาณ นอกจากนั้นเป็นงบเกี่ยวกับการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาดต่างๆ เช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอยขนาดต่างๆ รวม 2,027 คัน มูลค่ารวม 1,118.85 ล้านบาท งบการซื้อเรือเก็บมูลฝอย 1 ลำ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอย และการฝึกอบรมฯ

ด้าน นายวิรัตน์  มนัสสนิทวงศ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) อธิบายถึงการจัดการขยะของ กทม. ว่า การจัดการขยะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีความท้าทายที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ขีดจำกัดของทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในปี 2566 ที่ของบประมาณจัดการไปกว่า 5.7 พันล้านบาท ก็เป็นไปตามภารกิจอยู่แล้วไม่ได้มากหรือน้อยไปตามที่ต้องข้อสงสัย  

“ที่ผ่านมาการบริหารจัดการขยะของกทม.มุ่งเน้นการจัดเก็บขยะให้หมดทุกที่ ไม่มีมูลฝอยตกค้าง ต่อมาได้มีแนวคิดในการบริหารจัดการขยะโดยนำหลักการ 3R ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดเพื่อลดปริมาณขยะและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด” ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ระบุไว้

ขณะที่ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อมใช้งบประมาณในบางโครงการเกิดประโยชน์น้อยมาก อาทิ โครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช งบประมาณ 430 ล้านบาท ก่อสร้างเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้มีการใช้งาน ปล่อยไว้เป็นที่เปล่าๆ ต่อมามีการเสนอให้เอกชนเข้ามาประมูลใช้พื้นที่สร้างโรงงานกำจัดขยะผลิตพลังงานด้วยวิธีการหมัก 300 ตัน มองว่างบที่ใช้ไปก่อนหน้านี้ไม่เกิดประโยชน์เลย

“อีกโครงการที่น่าแปลกใจ คือ โครงการสถานีขนถ่ายมูลฝอย (ย่อย) รัชวิภา โดยการบีบอัดขยะ เพื่อส่งต่อไปที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม ขนาด 700 ตันต่อวัน งบ 800 ล้านบาท มองว่าเป็นการทำงานและเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณของ กทม.ในการกำจัดขยะเพียงพอ เหมาะสมหรือไม่นั้น จะนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภา กทม. ยืนยันว่า จะต้องพิจารณางบประมาณอย่างรอบคอบ” นายสุทธิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในการพิจารณางบประมาณ กำลังดำเนินการอยู่ แต่ข้อสงสัยในการใช้งบประมาณ ของบประมาณจากหน่วยงานของ กทม. ทั้งโครงการเก่า โครงการใหม่ โครงการผูกพัน ต่างมีข้อสงสัยให้คิดและน่าติดตามเนื่องจาก “ผู้บริหารเบอร์ 1” เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง. 

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน