เคยรู้ไหมว่า “สุพรรณบุรี” มีทิวเขาสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงเกินกว่า 1,000 เมตร มีทะเลหมอก และป่าสนสองใบ แบบเดียวกับที่ป่าทางเหนือมี ทั้งหมดนั้นอยู่ที่ “อุทยานแห่งชาติพุเตย” อุทยานแห่งชาติเพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอด่านช้าง โดยเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 198,422 ไร่ หรือ 317.48 ตารางกิโลเมตร

ท่ามกลางเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันสูง ส่วนที่สูงที่สุดเรียกว่า “ยอดเขาเทวดา” มีระดับความสูง 1,123 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายและเป็นพื้นที่ที่มีป่าสนสองใบธรรมชาติหนึ่งเดียวในภาคกลางที่มีมากกว่า 1,300 ต้น ทั้งยังสามารถเจริญเติบโตบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 763 เมตรเท่านั้น ด้านบนยอดเขานอกจากจะเป็นจุดชมทะเลหมอกยามเช้าแล้ว ยังเป็นจุดชมวิวผืนป่าที่เป็นเขตติดต่อกัน 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อุทัยธานี และกาญจนบุรีด้วย โดยมีเส้นทางเดินป่าจากเชิงเขาขึ้นไปยังยอดเขาระยะทางราว 800 เมตร

หากเดินขึ้นไปยอดเขาแล้วติดใจที่นี่ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกตะเพินคี่ใหญ่-น้ำตกตะเพินคี่น้อย เส้นทางเดินเท้าที่ขนานกับเส้นทางรถผ่าน “น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่” น้ำตกขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดปีเพราะเป็นต้นน้ำและบ่อน้ำผุดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และยังมีถ้ำที่สวยงามที่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ ผ่าน “น้ำตกตะเพินคี่น้อย” น้ำตกขนาดเล็กอยู่ใกล้กับหมู่บ้านตะเพินคี่ มีน้ำไหลตลอดปีเช่นกัน ก่อนจะไปจบที่ลานกางเต็นท์ตะเพินคี่

ลักษณะของเส้นทางเป็นลำธารสลับป่าไผ่ มีผาน้ำตกและโขดหินเป็นบางช่วง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับป่าดิบเขา พรรณไม้นานาพันธุ์ สัตว์ตามลําธาร ปู กุ้ง ผีเสื้อ และร่องรอยหมูป่าที่มาหาอาหาร คนที่ไม่ค่อนได้เดินป่าก็สามารถเดินเส้นทางนี้ได้ แต่ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ที่สำคัญคือไม่ต้องกังวลเรื่องทาก ระหว่างทางมีจุดแวะพักแต่ไม่สามารถค้างแรมในป่าได้

นอกจากความสวยงามของธรรมชาติแล้ว ที่นี่ยังเคยเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ด้วย เพราะเมื่อปี 2534 บริเวณอุทยานแห่งชาติพุเตยเคยเป็นสถานที่ประสบเหตุเครื่องบินเลาดาห์แอร์ตก โดยยังมีเศษซากของเครื่องบินกระจัดกระจายให้เห็นอยู่บ้าง นอกเหนือไปจากศาลที่สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และสถานที่เคารพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

จากสุพรรณบุรีเดินทางต่อไปยังอ่างทองเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการไม่นานมานี้ จัดสร้างขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่แสดงถึงความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และความปลาบปลื้มปิติยินดีแก่พสกนิกรโดยทั่วกัน โดยอ่างทองเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะตักน้ำไปเพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 อ่างทอง 1 ใน 5 แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ “เบญจสุทธคงคา” บอกเล่าถึงความสำคัญของจังหวัดอ่างทองในฐานะ 1 ใน 5 สถานที่ตักน้ำสำหรับทำน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นหัวใจของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากโซนที่ 1 จะสามารถชมห้องทรงงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดอ่างทองอีกด้วย

โซนที่ 2 อ่างทองภายใต้ร่มพระบารมี จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดอ่างทองในโอกาสต่าง ๆ โซนที่ 3 พระราชประวัติพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์และพระราชประวัติ ตั้งแต่พระราชสมภพ ทรงศึกษา การสถาปนาพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระผนวช จนถึงทรงราชย์ โซนที่ 4 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศกราช 2562 บอกเล่าความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพถ่ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง (หลังเก่า) โดยนำมาปรับปรุงเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่มีความคิดริเริ่มในการสืบสาน รักษา ต่อยอด และขยายผลองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์สถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของการทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีควรค่าแห่งการบันทึก ถ่ายทอด ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของความเป็นไทย

ย้อนกลับมาที่สุพรรณบุรี ช่วงหลางเดือน 7 ของจีน ตรงกับเดือน 9 ของไทยทางจันทรคติของทุกปี จะเป็นห้วงเวลาของหนึ่งในประเพณีสำคัญอย่าง “ประเพณีทิ้งกระจาดจังหวัดสุพรรณบุรี” ประเพณีที่จัดติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 100 ปีถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วย

สุพรรณบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เป็นศูนย์รวมของชนเผ่าต่าง ๆ โดยมีชนชาวจีนเป็นกลุ่มหลักในการวางรากฐานในเรื่องการค้าขาย ช่วงระหว่างสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 5 มีชาวจีนเดินทางเข้ามาลงหลักปักฐานในสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบลำน้ำสุพรรณบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นลุ่มน้ำท่าจีน มาจากการที่เป็นช่องทางหลักที่ชาวจีนจะมาขึ้นฝั่งจึงเรียกว่าเป็น “ท่าจีน” ก่อนจะเรียกรวมไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำในแถบนี้ด้วย

คนจีนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ รักพงษ์เผ่า เพราะฉะนั้นเมื่อมาอยู่แล้วจึงพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด จึงเป็นที่มาของมูลนิธิต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือคนจีนที่ย้ายตามเข้ามาในภายหลัง และความเมตตากรุณานี้แผ่ไปถึงคนไทยที่ยากจนด้วย

ในราวปี พ.ศ. 2423 ตรงกับรัชกาลที่ 5 เกิดภาวะแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากล้มตาย ชาวเมืองจึงขอพรเจ้าพ่อหลักเมืองให้คุ้มครองและขอให้พ้นจากภัยครั้งนี้ หลังจากนั้นภาวะแห้งแล้งก็เบาบางลงจนหมดไป ชาวบ้านเชื่อว่าเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง จึงเห็นพ้องจัดทำบุญเมืองครั้งใหญ่ สักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ทำทานแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เปรตและอสูรกาย 36 จำพวก มีการนำของกินโยนลงมาจากที่สูงเพื่อเป็นการอุทิศให้ทาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทิ้งกระจาดนับแต่บัดนั้น ที่เรีกยว่าทิ้งกระจาดมาจากลักษณะการทิ้งสิ่งของหรือไม้ติ้วที่มีหมายเลขเขียนไว้จากที่สูงลงมาของงานทิ้งกระจาดฟ้า แต่จะมีงานทิ้งกระจาดดินคือวางไว้บนพื้นดินด้วย ว่ากันว่าวันแรกของงานทิ้งกระจาดจะมีขบวนแห่ที่สวยงาม มีความยาวและยิ่งใหญ่กว่างานใด ๆ ในจังหวัดเลยทีเดียว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี ชวนเที่ยวชมความมหัศจรรย์ของป่าสนสองใบหนึ่งเดียวในพื้นที่ภาคกลาง ชมทะเลหมอกยามเช้าพร้อมวิวเทือกเขาสลับซับซ้อน พร้อมร่วมงานทิ้งกระจาดจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 15-26 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี สอบถามเพิ่มเติม ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี โทร. 035-525-880 หรือติดตามที่ Facebook Fanpage : TAT_suphanburi

งานประเพณีทิ้งกระจาดจังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. 2565

  • 15 สิงหาคม 2565 พบกับ “ขบวนแห่อัญเชิญเจ้าพ่อศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี” เริ่มจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี เลี้ยวขวาบริเวณแยกแขวงการทางฯ บนถนนพระพันวษา ผ่านวัดไชนาวาส ผ่านที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จนถึงสี่แยกเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อ้อมเป็นตัว U ขึ้นมาเลี้ยวขวาตรงไปสมาคม ตง ฮั้ว ฮ่วย ก้วง
  • การประกวดจัดโต๊ะบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง มี 2 ประเภท คือ ประเภทหน่วยงาน/องค์กร/ชุมชน และประเภทบุคคล
  • พิธีทิ้งกระจาด 17 และ 26 สิงหาคม 2565 เวลา 15.00 น. ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
  • ทุกวันพบกับ ขบวนแห่โคมไฟ พิธีลอยกระทง และการแสดง แสง เสียง บริเวณท่าน้ำถนนนางพิม ริมแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น งิ้วเปลี่ยนหน้า การประกวดธิดาศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี การแสดงดนตรีร่วมสมัย การแสดงเพลงพื้นบ้าน แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ การแสดงละครขุนช้างขุนแผน เป็นต้น กิจกรรม OTOP สุพรรณบุรี และของดี 4 ภาค ตลาดย้อนยุคสุพรรณบุรี

15-26 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี

ผู้เข้าร่วมงานจะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบริเวณพื้นที่จัดงานตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19