สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ว่านางโนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมา ของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าพบ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ที่ทำเนียบในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยนับเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ที่รัฐบาลทหารเมียนมาอนุญาตให้ทูตพิเศษยูเอ็นเดินทางเข้าประเทศ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564


ทั้งนี้ แถลงการณ์ของยูเอ็นซึ่งเผยแพร่ในเวลาต่อมา ระบุว่า เฮย์เซอร์แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา หลังการรัฐประหาร โดยมีการเสนอแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง เพื่อบรรเทาความรุนแรงของการสู้รบ และความทุกข์ยากของประชาชนด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงนางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือน ซึ่งเฮย์เซอร์กล่าวว่า ซูจีถือเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนสำคัญ” ของกระบวนการสันติภาพเมียนมา พร้อมทั้งเน้นว่า การมาเยือนครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึง การที่ยูเอ็น “ยอมรับความชอบธรรม” ของรัฐบาลทหารเมียนมา

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย สนทนากับนางโนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษยูเอ็น ที่กรุงเนปิดอว์


อย่างไรก็ตาม พล.ต.จอ มิน ตุน รมช.ข่าวสารและโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา แถลงหลังจากนั้น ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาไม่มีนโยบายอนุญาตให้ “บุคคลใดก็ตาม” พบปะแบบตัวต่อตัว กับผู้ต้องหาซึ่งกระทำความผิดร้ายแรงตามกฎหมายอาญา โดยศาลในกรุงเนปิดอว์เพิ่งมีคำพิพากษาเพิ่มเติม เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ให้ซูจีรับโทษจำคุกเพิ่มอีก 6 ปี ฐานคอร์รัปชั่น ทำให้ตอนนี้เธอมีบทลงโทษจำคุกสะสมเป็นอย่างน้อย 17 ปีแล้ว


ขณะเดียวกัน พล.ต.จอ มิน ตุน วิจารณ์การที่รัฐบาลทหารเมียนมา ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมทุกระดับของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ว่าตราบใดที่ไม่มีสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมครบทั้ง 10 ประเทศ การพบหารือนั้น ไม่สมควรเรียกว่า การประชุมอาเซียน และแสดง “ความผิดหวัง” ต่อการที่อาเซียนละเมิดหนึ่งในหลักการพื้นฐานสำคัญ ว่าด้วยการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน แต่มองว่า เป็นผลของ “แรงกดดันจากภายนอก” แต่ปฏิเสธขยายความ ว่าหมายถึงอะไร.

เครดิตภาพ : REUTERS