รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. ได้ดำเนินโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แล้วเสร็จ และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำรายงานสรุป คาดว่าจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเร็วๆ นี้ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประกวดราคา (ประมูล) ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้นต้องปรับรูปแบบการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โครงการรถไฟสายสีแดง โดยเดิมจะประมูลทั้ง 6 เส้นทางของโครงการรถไฟสายสีแดง ทั้งงานก่อสร้าง และงานเดินรถ วงเงินรวมประมาณ 4.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานโยธา งานระบบ และจัดหาขบวนรถ 1.88 แสนล้านบาท, การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 2.22 แสนล้านบาท และงานเพิ่มเติม 3.87 หมื่นล้านบาทไว้ในคราวเดียว ปรับเป็นเปิดประมูลงานก่อสร้าง และงานระบบก่อน จากนั้นจึงเปิดประมูล PPP งานเดินรถ จัดหาขบวนรถ และงาน O&M ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้ รฟท. กำลังเร่งสรุปวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น อัตราแลกเปลี่ยน ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้กรอบวงเงินแต่ละเส้นทางอาจต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10,670 ล้านบาท จากเดิม 10,202 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้วงเงินยังคงอยู่ในกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เคยอนุมัติไว้ แต่ต้องรายงานให้ ครม. รับทราบอีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รฟท. ต้องเริ่มงานก่อสร้างไปก่อน เพื่อให้เอกชนมีความมั่นใจว่ารถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายจะเกิดขึ้น และมีการเดินรถแน่นอน ซึ่งจะทำให้เอกชนตัดสินใจที่จะมาร่วมลงทุนเดินรถกับ รฟท. อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ประมาณเดือน ธ.ค.65 ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. จะเปิดประมูลในเดือน ม.ค.66 โดยทั้ง 3 เส้นทางจะเริ่มก่อสร้างเดือน พ.ค.66 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการส่วนต่อขยายทั้ง 3 เส้นทางได้ประมาณปี 69 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 2.5 แสนคนต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. อยู่ระหว่างปรับปรุงแบบสถานีราชวิถีใหม่ ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการต้นปี 71 ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง ซึ่งรวมเส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะมีผู้โดยสาร 4 แสนคนต่อวัน โดยขณะนี้ 2 เส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว มีผู้โดยสารเกือบ 2 หมื่นคนต่อวัน น้อยกว่าประมาณการณ์ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรอบวงเงินเดิมรถไฟสายสีแดง(ส่วนต่อขยาย) 4 เส้นทาง รวม 7.13 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4.69 พันล้านบาท, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต วงเงิน 6.46 พันล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท.