สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. โดยอ้างจากรายงานของสำนักข่าวเกียวโด ว่า การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นพุ่งสูง ระหว่างเดือน มี.ค. 2563 ถึงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยประชากรผู้หญิงในช่วงวัย 20 ปี ครองสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด


ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโดอ้างอิงการศึกษาล่าสุด โดยทีมนักวิจัยซึ่งรวมถึง รศ.ไทสุเกะ นากาตะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุว่า ญี่ปุ่นพบผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ราย ระหว่างการระบาดใหญ่ โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 19 ปีหรือน้อยกว่า ฆ่าตัวตายในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก


รศ.นากาตะ กล่าวว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้ทำงานประจำมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ชาย ขณะที่คนหนุ่มสาวอาจถูกบีบบังคับให้กักตัวอยู่บ้านมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านพฤติกรรม พร้อมเสริมว่าความเครียดทางการเงินมีส่วนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น


อนึ่ง ตัวเลขทางการบ่งชี้ว่าจำนวนการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นรวมอยู่ที่ราว 21,000 ราย ทั้งในปี 2563 และ 2564 โดบทีมนักวิจัยเข้าถึงข้อมูลตัวเลขการฆ่าตัวตาย ที่เกิดจากการระบาดใหญ่ พิจารณาจากตัวเลขในอดีตและจากผลกระทบของความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น ทีมนักวิจัยเชื่อว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8,088 ราย


ประชากรในช่วงวัย 20 ปี ครองสัดส่วนการฆ่าตัวตายมากที่สุดอยู่ที่ 1,837 ราย จากจำนวนดังกล่าวเป็นประชากรผู้หญิง 1,092 ราย ขณะที่สัดส่วนประชากรอายุ 19 ปีหรือน้อยกว่านั้น อยู่ที่ 377 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 282 ราย


สถิติจากรัฐบาลระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี 2553 ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้น เมื่อปี 2563 และมีตัวเลขทรงตัว เมื่อปีที่แล้ว โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า การฆ่าตัวตายของนักเรียนระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 499 ราย เมื่อปี 2563 ซึ่งสูงกว่าระดับปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 หลังจากโรงเรียน พื้นที่เล่นสาธารณะ และร้านค้า ถูกสั่งปิดทำการขณะบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค ส่งผลให้เด็กวัยเรียนต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA