เมื่อวันที่ 19 ส.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาวิชาชีพศึกษานิเทศก์ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย พร้อมมอบรับโล่ประกาศเกียรติคุณในการปฏิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ในการสนับสนุนและผลักดันนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาประเทศ โดยมี นายพันธ์ศรี พลศรี นายกสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร ท่านที่ปรึกษาสมาคมฯ วิทยากร ศึกษานิเทศก์ และผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมคุรุสภา

รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทางด้านการศึกษา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษา สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพของคน อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติในทุกช่วงวัย การจัดการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น และมีความเหมาะสมตามความถนัด ความชอบในแต่ช่วงวัย

โดยบทบาทของศึกษานิเทศก์ ในฐานะผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ ที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับสถานศึกษา และคุณครูมากที่สุด มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อน และเป็นผู้คอยชี้แนะ ให้คำแนะนำ ส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือครูผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพสูงสุดตามศักยภาพ รวมทั้งพัฒนาการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดการพัฒนาในวงวิชาการของประเทศไทย และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคุณครูทั่วประเทศ ส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษาในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

ซึ่งสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของศึกษานิเทศก์ด้วยดีอย่างเสมอมา กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษาไทย ผ่านการจัดทำโครงการ และกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา โดยได้ผลักดันการเพิ่มเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มคุณภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม

“ขอฝากท่านศึกษานิเทศก์ในการให้ข้อแนะนำแก่ผู้บริหาร และครูในการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน ด้วยการใช้เงินอุดหนุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมมุ่งเน้นนโยบายการเรียนการสอนให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ตามแนวทาง Active Learning การบูรณาการข้ามสถานศึกษาของโรงเรียนแต่ละระดับได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน การสนับสนุนให้เด็กได้ค้นหาตัวตนเจอ รวมถึงการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ส่งเสริมภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เป็น soft power ที่สำคัญของประเทศ การเพิ่มเติมวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองในการเรียนการสอนมากขึ้น และนโยบายด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมถึงการขยายผลการใช้ Application MOE safety center เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการป้องกันและแก้ไข พร้อมทำให้ทั้งครูและนักเรียน ได้รู้จักกับการเรียนรู้ผ่านรูปแบบออนไลน์

การขับเคลื่อนทั้งหมดนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ จึงประสบผลสำเร็จ โดยศึกษานิเทศก์เป็นปัจจัยหลักที่จะถ่ายทอดและนำนโยบายสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ได้ดีที่สุด ซึ่งขอให้ศึกษานิเทศก์นำ Best Practice ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน หรือในเขตพื้นที่ที่ท่านดูแล มานำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทาง วิธีการ จะได้เกิดการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ได้มากยิ่งขึ้น รมว.ศธ.กล่าว