เมื่อวันที่ 9 ส.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้มารายงานข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้ตนพิจารณา ซึ่งเท่าที่ดูแนวทางที่นำเสนอมานั้นมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางก็เป็นแพคเกจใหญ่ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยตนไม่ได้ตีกลับให้ไปดำเนินการใหม่ แต่มอบแนวทางการดำเนินการไปว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูควรจะนำร่องในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก่อน เพื่อให้มีการจับต้องได้ของกระบวนการทำงาน เพราะหากทำทุกแนวทางที่นำเสนอมา ตนมองว่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเบื้องต้นจึงมอบให้คณะทำงานไปเลือกหนึ่งแนวทาง เพื่อนำมาจัดทำเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อม รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งไหนสมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้ครูกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บ้าง เนื่องจากพบการรายงานข้อมูลว่า หนี้ครูส่วนใหญ่ 80% ครูเป็นหนี้กับสหกรณ์ รองลงมาคือสถาบันการเงินกับธนาคารต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น ดังนั้นหนี้ครูจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเริ่มนำร่องแก้ปัญหาก่อน

“สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เบื้องต้นจะนำร่องลดดอกเบี้ยให้แก่ครูที่เป็นหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยเราจะไปหารือกับธนาคารต้นทางเพื่อขอลดดอกเบี้ย เนื่องจากสหกรณ์จะไปกู้ธนาคารและนำมาปล่อยกู้ให้แก่ครูอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากเราลดต้นทุนการกู้มาได้ก็เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ขณะเดียวกันเราจะต้องวางแผนแก้ไขปัญหาหนี้ครูในอนาคต เพราะไม่อยากให้ครูรุ่นใหม่เข้ามาติดกับดักวงจรการเป็นหนี้อีก อย่างไรก็ตามคณะทำงานจะกลับไปทำข้อสรุปและมานำเสนอให้ตนพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะนำโครงการของ ศธ.ไปรวมกับการทำงานของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดูแลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูด้วย” รมว.ศธ.กล่าว