เมื่อวันที่ 2 ก.ย. พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบหมายให้ พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นผู้แทน เป็นประธานในงาน “วันเรือดำน้ำ” ตรงกับวันที่ 4 ก.ย. ประจำปี 2565 โดยมี พลเรือตรี พงษ์ศักดิ์ สมบุญ ผู้บัญชาการ กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ นำกำลังพลเข้าร่วมในพิธี ที่กองบัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้แก่ อดีตทหารเรือที่เป็นนักดำเรือดำน้ำ และรำลึกถึงอดีตนักดำเรือดำน้ำผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจน รำลึกประวัติศาสตร์การมีเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย รวมทั้ง เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของเรือดำน้ำ และแนวคิดในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ในปัจจุบัน
สำหรับความเป็นมา เมื่อวันที่ 4 ก.ย. พ.ศ. 2480 หรือเมื่อ 85 ปีที่แล้ว เป็นวันที่สำคัญยิ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทย ที่กองทัพเรือได้ประกอบพิธีรับมอบเรือดำน้ำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ ณ อู่ต่อเรือ มิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ธงราชนาวีไทยได้โบกสะบัดอย่างสง่างามบนยอดเสาเรือดำน้ำ บริเวณท้ายเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือหลวงวิรุณ เป็นครั้งแรกซึ่งนับได้ว่าเป็นเรือดำน้ำ 2 ลำแรก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันประเทศไทย มีผลประโยชน์ทางทะเลนับหลายล้านล้านบาทต่อปี และนับวันจะทวีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยการเสริมสร้างกำลังทางเรือ จึงมีความจำเป็นให้มีกำลังทางเรือที่สมดุลทัดเทียมกันในภูมิภาค มีศักยภาพในการรบที่ใกล้เคียงกันหรือเหนือกว่า ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เสริมสร้างกำลังทางเรือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกำลังเรือดำน้ำ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของกำลังทางเรือแล้ว กองทัพเรือไทย มีความเสียเปรียบอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ จึงจะรักษาสมดุลกำลังทางเรือในการรักษาความมั่นคงทางทะเลในปัจจุบันได้
เรือดำน้ำ ถือเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาเรือรบด้วยกัน เป็นอาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก ปฏิบัติการได้ไกล และมีอำนาจการทำลายรุนแรง สามารถสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังทางเรือเหนือกว่าอย่างมาก การได้ เรือดำน้ำ จึงจะเข้ามาเสริมเติมเต็มให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถครบทุกมิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการรักษาอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติอย่างมั่นคงสืบไป.