เมื่อวันที่ 3 ก.ย. มีรายงานว่า วานนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการฟอกเงิน ได้เดินทางมาที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อแถลงข่าวผลการดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์และการฟอกเงินรายใหญ่เครือข่ายนายอาลี ลาลู ซึ่งเป็นเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติรายสำคัญ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินการในคดีนี้สืบเนื่องจากตำรวจภูธรภาค 6 และภาค 8 ได้มีการร่วมกันปฏิบัติการกวาดล้างทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ หรือการขนชาวโรฮีนจา จากประเทศเมียนมา ผ่านเข้ามาในประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย โดยทำเป็นขบวนการใหญ่ระดับประเทศ โดยการสืบสวนทราบว่าหัวหน้าเครือข่าย ชื่อนายอาลี ลาลู เป็นผู้สั่งการ โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ตำรวจภูธรภาค 8 ได้จับขบวนการลักลอบขนชาวโรฮีนจา จำนวน 14 คนได้ในจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี และตำรวจได้สืบสวนขยายผลจับผู้ต้องหารวมในขบวนการนี้ได้ 8 คน จากนั้นมีการสืบสวนขยายผลทางคดีอย่างต่อเนื่องจนสามารถขยายผลจับผู้ต้องหาเครือข่ายนายอาลี ลาลู ได้รวมทั้งสิ้น 39 ราย

โดยกลุ่มเครือข่ายนายอาลี ลาลู ได้มีการซัดทอดมาถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นนายตำรวจในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดตาก รวม 3 นาย โดยหนึ่งในผู้ถูกซัดทอดมียศ พันตำรวจโท ตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดตาก และมีนายตำรวจยศร้อยตำรวจโท และนายดาบตำรวจ สังกัดกองร้อยเดียวกันร่วมขบวนการนี้ด้วย ซึ่งนายตำรวจทั้ง 3 นาย พนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. 346 ทั้ง 3 ราย ประกอบไปด้วย 1. ด.ต.ปรีชา สีจ๊ะแปง ผบ.หมู่ ตชด.346 ถูกจับกุมตามหมายจับศาลทุจริตและประพฤตมิชอบ ภาค 6 ที่ จ.2/2565 ลงวันที่ 30 มี.ค.65 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จับกุมเมื่อวันที่ 27 ก.ค.65, 2. พ.ต.ท.อรรถชัย ออมสินสมบูรณ์ ผบ.ร้อย ตชด. 346, 3. ร.ต.ท.สุรพล ฉายะสุโข รอง ผบ.ร้อย ตชด. 346 ทั้งสองราย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด จว.ตาก ดำเนินคดีตามกฏหมาย

จากกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ยังได้สืบสวนจนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด ตม.จว.แม่สอด จำนวน 3 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด สภ.แม่สอด จำนวน 4 นาย (รวม 7 นาย) อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนเข้าไปมีส่วนในการอำนวยความสะดวกทั้งทางตรงและทางอ้อมกับขบวนการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ซึ่งคณะทำงานมีมติในที่ประชุมให้จเรตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทางวินัยกับข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามการสืบสวนทราบว่า ตำรวจทั้ง 3 นายถูกซัดทอดว่า เข้ามามีส่วนร่วมโดยการเรียกรับเงินจำนวน 20,000 บาท กับชาวโรฮีนจา จำนวน 16 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในพื้นที่กักตัวคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองในกองร้อย ตชด. เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการปล่อยตัวออกจากพื้นที่กักตัวโดยการนำตัวขึ้นรถราชการนำไปส่งผลักดันออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติให้กับขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อจะลักลอบนำกลับข้ามมาในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งนายอาลี ลาลู หัวหน้าแก๊งได้กล่าวอ้างว่า ได้จ่ายเงินให้ตำรวจชุดดังกล่าวเป็นเงิน 90,000 บาท จนเรื่องแดงขึ้นมา

ล่าสุดมีการขยายผลเชิงลึกแบบถอนรากถอนโคน และสามารถขยายผลทราบว่ายังมีตำรวจจำนวน 3 นาย สังกัด ตม.ตาก และตำรวจอีก 4 นายสังกัด ตำรวจ สภ.แม่สอดจังหวัดตาก รวม 7 นาย เข้าไปมีส่วนร่วมกับเครือข่ายดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งตำรวจทั้ง 7 นาย ได้มีคำสั่งย้ายด่วนไปช่วยราชการนอกพื้นที่ พร้อมถูกตั้งกรรมการสอบสวนทั้งทางวินัยและทางอาญาแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

สำหรับการทลายเครือข่ายค้ามนุษย์รายใหญ่ โดยการร่วมมือระหว่างตำรวจภูธรภาค 6 และภาค 8 ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 10 คดี ดำเนินคดีผู้ต้องหารวมทั้งหมด 39 ราย โดยมีการอายัดทรัพย์สินจากคดีฟอกเงินได้รวมทั้งสิ้น 196.4 ล้านบาท และอายัดบัญชีผู้ต้องหาที่มีเงินหมุนเวียน 1,630 ล้านบาท โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจยึดพอร์ตทองคำมูลค่า 46.4 ล้านบาทไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา