เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “Pfizer Vs Moderna : เมื่อสู้กับเดลต้า…ใครชนะ?

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของทีมวิจัยในรัฐ Minnesota สหรัฐอเมริกาเก็บข้อมูลคนที่ได้รับวัคซีน Pfizer และ Moderna เปรียบเทียบดูประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของไวรัสแอลฟา และ เดลต้าที่มีสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงที่เก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลอยู่ที่ 25,896 คน ในแต่ละกลุ่มรวมทั้งกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนด้วย

ข้อมูลในการศึกษานี้มีจำนวนมากซึ่งอาจจะเล่าไม่ครบถ้วนในโพสต์นี้ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมใน link ด้านล่างนะครับ

ตัวเลขประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนทั้งสองยี่ห้อถือว่าสูงครับ แต่ถ้าให้เปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัว คะแนนที่ออกมาคือ “Moderna เป็นฝ่ายชนะ” ครับ ภาพจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีอาการโควิดในกลุ่มที่ฉีด Pfizer (เส้นสีน้ำเงิน) ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ Moderna (เส้นสีส้ม) ในช่วง 70 วัน หลังจากได้วัคซีนครบ 2 เข็ม และ หลังจากนั้นกราฟของ Pfizer จะเริ่มแยกออกจาก Moderna อย่างเห็นค่อนข้างชัด

เมื่อดูค่าประสิทธิผลรายเดือนจะเห็นว่าประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองชนิดจะเริ่มตกลงที่เดือนมิถุนายนทั้งคู่ โดยเดือนกรกฎาคม ค่าของ Pfizer จะอยู่ที่ 42% ขณะที่ Moderna อยู่ที่ 76% ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการระบาดของเดลต้ามากกว่า 70% ในรัฐนั้น

ตัวเลขเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยมีอาการจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับ Moderna ดูดีกว่า Pfizer เช่นกัน โดยสองกลุ่มมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นช่วงที่เดลต้าระบาดทั้งคู่ คนที่ได้ Pfizer มีประมาณ 25% ขณะที่ Moderna มีประมาณ 20% ซึ่งเห็นค่อนข้างชัดว่า จากช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นหลังฉีด บวกกับ ไวรัสเดลต้า สามารถพบคนที่ติดเชื้อและมีอาการได้มากขึ้นกว่าการระบาดช่วงแรกๆอย่างค่อนข้างชัดเจน”..

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : Anan Jongkaewwattana