“วันที่ 30 กันยายน” ของทุกปี ถือเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของข้าราชการหลายๆคนที่อายุครบ 60 ปี ถึงวัยเกษียณอายุราชการ ในหลายกระทรวง หลายกรม กอง ของหน่วยงานราชการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน “ผู้บริหารคนเก่าไป-คนใหม่มา” เพื่อให้การบริหารงานราชการทำงานเพื่อประชาชนเดินหน้าต่อ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาได้เพียง 6 ปี หรือเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2559 หลังจากเปลี่ยนเชื่อจาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ถึงเวลาที่ปรับเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำเช่นกัน
เมื่อ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงเวลาโบกมือลา ต้องเกษียณอายุราชการ หลังนั่งตำแหน่งทำงานมายาวถึง 5 ปี ถือเป็นปลัดกระทรวงดีอีเอส ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด เรียกว่าตั้งแต่มีกระทรวงไอซีที มาตั้งแต่ปี 2545 จนเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงดีอีเอสในปัจจุบัน
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ได้เปิดใจถึงผลงานที่ผ่านว่า หนึ่งในสิ่งที่ภูมิใจคือสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ครบวาระ เพราะหลังจากมีการรัฐประหาร เมื่อ พ.ค.57 มาถึง ต.ค.60 ในเวลาเพียง 3 ปีกว่าๆ มีการเปลี่ยนปลัดกระทรวง ถึง 5 คน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ในตำแหน่งได้เป็นเวลาถึง 5 ปี โดยหลังได้เข้ารับตำแหน่ง ทางผู้บังคับบัญชาก็ได้มอบหมายภารกิจที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ

โดยในการทำงานในช่วง 2 ปีแรก หมดไปกับการผลักดันนโยบายของรัฐบาล คือ “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ Digital Economy โดยในแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรฐกิจและสังคม 5 ปี (ปี 61-65) ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ที่ต้องเสร็จภายใน 18 เดือน และโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (เกตเวย์) สู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน ก็ต้องเสร็จ
โดยมื่อตอนที่ยังทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ได้ไปดีลกับนักลงทุนรายใหญ่ๆ ด้านดิจิทัล ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ แต่ขณะนั้นประเทศไทยยังมีถนนใหญ่ จึงต้องปรับไฮเวย์มาผ่านประเทศไทย ซึ่งก็สามารถผลักดันให้มีการวางสายไฟเบอร์ออฟฟิก ของทีโอที แล้วเสร็จได้เมื่อเดือน ธ.ค.60
อย่างไรก็ตาม เมื่อเน็ตประชารัฐเสร็จ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในเรื่องการสอนให้ชาวบ้านรู้จักใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย จึงทำโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปี 62 คือ การพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน และการตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชุม จนแล้วเสร็จ

ส่วนอีกหนึ่งภารกิจงานที่สำคัญ ก็คือ การจัดทำกฎหมายดิจิทัลต่างๆ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ก็ต้องมีการปรับใหม่หลายเรื่อง ก็สามารถดำเนินการแล้วเสร็จใน 2 ปี เช่นกัน แต่ก็ยังต้องมีการออกกฎหมายลูกตามมาอีกหลายฉบับ
นอกจากนี้ยังต้องมาทำเรื่อง การควบรมระหว่าง บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) หรือ ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เพื่อจัดตั้งเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ซึ่งในช่วงปี 61-62 มีปัญหาเรื่องปรับโครงสร้างของทั้งสองบริษัท ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จนสามารถนำเรื่องเข้า ครม. และมีมติในควบรวมเมื่อ ม.ค.63
ปลัดกระทรวงดีอีเอส ยังเล่าต่อว่า อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหาเรื่อง “ดาวเทียมไทยคม” ที่ได้ทำเรื่องให้ส่งคืนมอบดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้อยู่ในระบบสัมปทานตามมติ ครม. จนทำให้เกิดข้อพิพากเอกชน ร้องต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ จนเป็นที่คาราคาซังอยู่ แต่ก็ถือเป็นการทำงานได้เร็ว และเป็นงานที่ต้องทำตามหน้าที่ ตามมติ ครม.
ซึ่งเรื่องดาวเทียม เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ที่ต้องดำเนินงานตามนโบายรัฐบาล เพื่อให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ใช้งานหลังจากที่ กสทช. จะจัดประมูลดาวเทียมในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งได้ให้เอ็นที หน่วยงานภายใต้กระทรวง เข้าไปดูว่าจะดำเนินการประมูลเอง หรือเข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะประมูล
การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก็ถือเป็นอีกหนี่งผลงานที่ปลัดอัจฉรินทร์ ภูมิใจที่ร่วมผลักดันกับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส คนก่อน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมีมีข่าวปลอมจำนวนมากแพร่หลายในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ยิ่งในช่วงโควิดระบาดจึงต้องตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมขึ้นมาเพื่อค่อยมอนิเตอร์และตรวจสอบให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันเฟคนิวส์ลดลงกว่า 80%

นอกจากนี้ยังมีอีกผลงาน คือ การผลักดัน ก.ม.ควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะให้แพลตฟอร์มออนไลน์ เหล่านี้ที่ให้บริการกับคนไทยต้องมาจดแจ้ง กับภาครัฐ เมื่อเกิดปัญหาการบริหาร หรือความเสียหายขึ้น จะได้รู้ผู้ติดต่อ หรือรับผิดชอบ ซึ่งคาดว่าจะออกมาบังตับใช้ในช่วงปีหน้า
ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่ถือเป็นการ”ตั้งไข่-ทำคลอด” คือ การผลักดันในการยกระดับ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ) ภายใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เพื่อตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ คือ สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ ภายใต้ ดีอีเอส ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้า ครม.เร็ว ๆ นี้ โดยจะเป็นหน่วยงานที่หน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ วิเคราะห์ข้อมูลภาครัฐ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องบิ๊ก ดาต้า ให้กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายบิ๊ก ดาต้า ของรัฐบาลต่อไป

เมื่อถามสิ่งที่หนักใจและต้องเร่งแก้ปัญหากันต่อก็คือ ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ภาครัฐและ หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งทางรัฐบาล และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว..ดีอีเอส คนปัจจุบันให้ความสำคัญ กับเรื่องนี้มาก เพราะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก อย่างที่เป็นข่าวให้เห็นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อ ก.ม.ควบคุมแพลคฟอร์มดิจิทัล บังคับใช้ เชื่อว่าจะช่วยให้ปัญหาจะลดลงบ้าง ก็อยากฝากปลัดกระทรวงดีอีเอสท่านใหม่ เข้ามาช่วยสานต่อในแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อด้วย
ทั้งหมดเป็นผลงานเด่นตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา ของปลัด “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ที่เตรียมส่งไม้ต่อ ให้ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอีเอสคนใหม่ เข้ามาสานต่อภารกิจของกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป
จิราวัฒน์ จารุพันธ์