เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” ถึงกรณีการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิต หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ในโครงการพิเศษของ สปสช. ดำเนินการจัดหาโดยองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การจัดซื้อ ATK นั้น เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงมีมติ 22 ก.ค.ขอให้ รพ.ราชวิถี ประสานไปยังองค์การเภสัชฯ ในการจัดซื้อ ตามสเปก จำนวน วันที่กำหนดส่ง โดยราคาไม่เกิด 120 บาท รวมค่าขนส่งถึงปลายทาง และค่าอื่นๆ แล้ว ทั้งนี้การจัดซื้อในภาวะเร่งด่วน จะมีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐปี 2560 อยู่ เป็นวิธีตกลงราคา วิธิพิเศษที่เลือกซื้อได้เลย หากใช้การบิดดิ้งหรือทั่วไปจะทำให้เกิดความล่าช่า ดังนั้นต้องไปถาม อภ.ว่าทำไมถึงใช้วิธีการบิดดิ้ง

ทั้งนี้พิธีกรรายการเจาะลึกทั่วไทยถามว่าทางองค์การเภสัชฯ ระบุว่า ได้สอบถามกลับมาที่ สปสช.แล้วว่าหากจะเอายี่ห้อที่องค์การอนามัยโลกรับรองก็จะมี 2 ยี่ห้อ แต่ที่ขึ้นทะเบียนกับประเทศไทยมีเพียง 1 ยี่ห้อ แต่ สปสช.ลังเล อ้ำอึ้ง ไม่ตอบให้ชัดว่าจะเอาหรือไม่ ดังนั้น อภ.จึงกลับไปใช้วิธีการจัดซื้อปกติ ดังนั้นทำไม สปสช.ไม่ยืนยันกลับไป นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โกหก สปสช.ใจกล้า เพราะมีตนเป็นประธานคณะทำงาน และรู้ระเบียบที่เกี่ยวข้องว่ากรมบัญชีกลาง สตง. และกฤษฎีกา รับรู้ในระเบียบและมีมติที่ประชุม วันที่ 21 ก.ค. พูดเองว่าสามารถดำเนินการได้เลย ปรากฏว่าเขาไปดำเนินการจัดซื้อจัดหา และมีคนรายงานมาที่ตน ว่าเขาจะแยกซื้อ 1 ล้านเทสต์ อ้างว่าต้องการเร่งด่วน ส่วนอีก 7.5 ล้านโด๊ส จะไปใช้วิธีการประมูล

ส่วนเราไม่เห็นด้วยเพราะจะไปแบ่งซื้อแบ่งจ้างทำไม และสืบวงใน ได้ว่าจะมีการซื้อก่อนในราคา 200 บาท เป็นค่าชุดตรวจ ATK 160 บาท บวกค่าขนส่งอีก 40 บาท ทั้งที่เราต่อรองเบื้องต้นแล้ว ว่า 120 บาท ต้องรวมทุกอย่าง จึงแจ้งผู้ประสานงานของ อภ.ว่าไม่ให้ทำเช่นนั้น จึงเกิดเป็นการประมูล 8.5 ล้านชุด ในวันที่ 27 ก.ค. และแจ้งให้ตนคนเดียว ไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเราไม่ทราบกระบวนการใดๆ ในการต่อรองราคา และไม่ถามเราเลยว่าเราเร่งด่วนแล้วเราจะเจาะจงอย่างไร จะเจาะจงหรือไม่ แต่ส่งลิงก์มาให้ตนเวลา 23.56 น. เวลา 9 โมงเช้าของวันถัดมาจะประมูล เราเลยแย้งในที่ประชุมว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ แล้วบริษัทที่เราต่อรองมาแล้ว 2 เข้า ไม่มีสิทธิยื่นประมูลเลย อ่างว่าประสานงานไม่ได้ อีกทั้งยังให้คณะกรรมการต่อรองราคาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเลยเวลามาแล้ว และใกล้ถึงเวลาจะเปิดซอง จึงขอให้เขาไปคิดให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ล้มการเปิดซองวันนั้น

ทั้งนี้ ตนได้เรียกประชุมคณะกรรมการต่อรองราคาทันที และมีมติยืนยันหลักการไป อ้างหลักการและเหตุผล ข้อกฎหมายต่างๆ และตกลงเลยว่าขอให้เจาะจงไปเลย เนื่องจากเรามีรายงานเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่เรียก 2 บริษัทนี้มา ซึ่งการต่อรองครั้งนี้เราไม่ได้ต่อรองเอาถูกที่สุด แต่เราต้องการได้ของดี มีคุณภาพ และมองว่า อย.อย่างเดียวไม่พอ เพราะการจะซื้อแจกเป็นเรื่องความเป็นความตาย แล้ว อย.สหรัฐ ก็เรียกคืน เราทำ TOR ไปเลยว่าจะต้องส่งของในวันที่ 2 ส.ค.จำนวน 4 ล้าน 2 ล้าน และครบ 8.5 ล้านโด๊สในวันที่ 10 ส.ค. และมีการแนบรายงานการประชุมไปด้วย ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ระบุชื่อบริษัทในหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการ แต่ในรายงานการประชุมระบุชัดเจนว่า 1. บริษัท STAND Q เราเช็กราคาก่อนแล้ว มีการคุยกันมาตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. พอวันที่ 9 ก.ค. เราเลือกแล้วว่าจะเอาเจ้าที่มีหลังพิง คือมีองค์การอนามัยโลกรับรอง มี 2 บริษัท คือ Panbio กับ STAND Q ซึ่งสืบค้นพบขายให้องค์การอนามัยโลกขายให้ประเทศยากจน โดย Panbio ขาย 5 ดอลลาร์ ส่วน STAND Q ขาย 4.69 ดอลลาร์หรือประมาณ 160 บาท แต่ก็มีการยื่นราคากันมาใหม่ โดย Panbio เสนอ 160 บาท มาเป็น 140 ขณะที่ STAND Q SD เสนอ 120 บาท

ด้วยเงื่อนไขราคานี้เลยเสนอเข้าบอร์ด สปสช. 120 บาท รวมค่าขนส่งถึงหน่วยบริการ 29 ก.ค. เลยส่งหนังสือถึง รพ.ราชวิถี แต่ อภ. กลับมาขอกับเจ้าหน้าที่ว่าขอใช้วิธีจัดซื้อ และขอตัดคำว่า ”องค์การอนามัยโลก” ออก ตัดคำว่า “การตีพิมพ์” ออกได้หรือไม่ หากได้จะสามารถซื้อและส่งของได้ในวันที่ 10 ส.ค. แต่วันที่ 5-6 ส.ค. มาขอให้เราปรับสเปก อีก แต่เราไม่ยอม โดยยืนยันว่าเราให้เจาะจง เราไม่กลัวเพราะเรามีหลังอิง มีหลักการและเหตุผลอยู่แล้ว เพราะ สตง.ก็บอกว่าไม่จำเป็น คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องมี TOR ก็ได้ ส่งของก่อนแล้วค่อยรายงานก็ได้.