วันนี้ (21 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวานนี้ (20 ต.ค.) บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาลงมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับทราบการควบรวม ทรู-ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม นั้น โดย ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. เป็น 1 เสียง ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค โดยได้เผยเอกสารชี้แจงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับการควบรวม 6 ข้อ โดยยึดจากข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วย

1. ในทางกฎหมาย กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการรวมธุรกิจตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ประกอบกับข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

2. การรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีค่าดัชนี HHI มากกว่า 2,500 และเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ไม่ว่าจะคำนวณมาจากส่วนแบ่งตลาดซึ่งคิดจากจำนวนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการในตลาดแต่ละราย หรือส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ของผู้ให้บริการก็ตาม โดยผลการศึกษาซึ่งคำนวณค่า HHI จากจำนวนผู้ใช้บริการ พบว่า ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ หลังการรวมธุรกิจ HH เพิ่มขึ้นจาก 3,612 เป็น 4,725 หรือเพิ่มขึ้น 1,113 และตลาดบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,511 เป็น 4,745 หรือเพิ่มขึ้น 1,234 นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อตลาดต้นน้ำในระดับ Infrastructure

โดยตลาดบริการการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังการรามธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,773 เป็น 5,000 หรือเพิ่มขึ้น 1,227 ตลาดบริการขายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 2,979 เป็น 3,393 เพิ่มขึ้น 414 และตลาดบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,356 เป็น 5,024 หรือเพิ่มขึ้น 1,668

3.มีความเป็นไปได้สูง ที่การรวมธุรกิจจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดอำนาจตลาดสูงซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด

4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมีสูงมาก ได้แก่ อัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงทางเลือกในการรับบริการน้อยลง, ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดต่อขนาดหรือ economy of scales มีแนวโน้มลดลงและจะไม่ส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค, ผู้ร่วมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหรือถ้ามีก็ล่าช้า, คุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการในตลาดอาจลดลง, อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้, ผู้รวมธุรกิจอาจลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกิดบริการทั่วถึง เนื่องจากเมื่อมีผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจในการแข่งขันแล้ว

จึงทำให้ไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำหรือลงทุนในพื้นที่เหล่านั้นน้อยลงซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมเพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล, ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและต่อ GDP โดยทำให้ GDP มีแนวโน้มลดลงและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการรวมธุรกิจ

5.ดังนั้นการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและดีแทคเป็นการดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสาธารณชนและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ประโยชน์จากการรวมธุรกิจยังขาดความชัดเจนว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งในกระบวนการของการพิจารณาก็ได้พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่างๆ แต่ผลยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด ที่จะมาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้

6.จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่างๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้