เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. แถลงกรณีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (จำกัด) มหาชน (บีทีเอสซี) ปล่อยคลิปทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท ว่า กทม.ไม่มีเจตนาชะลอการชำระหนี้ แต่มีเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ ส่วนต่อขยาย 1 คือ ช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง และช่วงสถานีตากสิน-สถานีบางหว้า เนื่องจากมีคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 ตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการให้ไปเจรจากับเอกชน รับภาระค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค.62 จึงไม่สามารถจ่ายได้ อีกทั้งมูลค่าหนี้อยู่ระหว่างให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) คิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

ในส่วนต่อขยาย 2 คือช่วงสถานีหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงสถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายดังกล่าว ไม่เป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร โดยเคทีกลับไปว่าจ้างเอกชนให้ดำเนินการในวันที่ 28 มิ.ย.59 ก่อนจะมีบันทึกมอบหมายในวันที่ 28 ก.ค.59 ขณะที่ส่วนต่อขยาย 1 ผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ขั้นตอนของส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ต่างจากส่วนต่อขยายที่ 1 คือ เริ่มจากเดือน ส.ค.-ธ.ค.58 กทม.ออกหลักเกณฑ์ในการมอบหมายงานให้เคที วันที่ 15 มิ.ย.59 รักษาการผู้ว่าฯ กทม. ลงนามเห็นชอบ มอบหมายให้เคทีจัดการเดินรถและตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการชำระคืนค่าติดตั้งงานระบบและจัดหาขบวนรถ (e&m)

วันที่ 28 มิ.ย.59 เคที ทำสัญญา e&m กับบริษัทเอกชนมูลค่าสัญญา 19,358 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำสัญญาก่อนบันทึกมอบหมาย

วันที่ 28 ก.ค.59 กทม.ลงนามบันทึกมอบหมายระหว่างกทม.กับเคที ลงนามโดยที่ยังไม่ได้มีการทำโครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณจากสภากทม.

วันที่ 1 ส.ค.59 เคที ทำสัญญาค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (o&m) กับบริษัทเอกชนมูลค่าสัญญา 161,097.64 ล้านบาท

ต่อมาใน ปี 61 สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียวระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี ระหว่างปี 61 ถึงปี 75 วงเงินรวม 31,988,490,000 บาท ทางสภากทม.พิจารณาแล้วไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว และในปี 64 สจส. เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ส่วนต่อที่ 1 และ 2 9,246,748,339 บาท สภากทม.ไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสมเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์

นายวิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ยังต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและมีมติว่าจะขยายสัมปทานหรือไม่ หากครม. อนุมัติ ทุกอย่างจะไปเป็นตามสัญญาใหม่ที่เอกชนผู้รับสัมปทายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ถ้า ครม. ไม่อนุมัติ จะเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี 2 วิธี ได้แก่ 1.ให้สภา กทม.ให้สัตยาบรรณย้อนหลังสัญญาจ้างเดินรถและสัญญาติดตั้งระบบ และ 2. ถ้าสภา กทม. ไม่ให้สัตยาบรรณ ให้รอศาลปกครองตัดสิน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือแจ้ง กทม.ขอทราบแนวทางดำเนินโครงการเนื่องจากมีผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม.ชุดใหม่ และ ผู้ว่าฯ ได้มีหนังสือตอบกลับ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เห็นพ้องกับนโยบาย Through operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ 2.เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และ 3.การหาข้อยุติของ ครม.ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน

ทางด้านนายต่อศักดิ์ กล่าวว่า กทม.มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ โดยเป็นเงินสะสมของ กทม. ที่มีอยู่ 7 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นได้เตรียมไว้ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อมาชำระหนี้ ยืนยันว่าพร้อมจ่ายเงินทันที แต่กระบวนการไม่พร้อม จึงต้องทำอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มูลค่าหนี้ที่เอกชนทวงเป็นจำนวน 4 หมื่นล้านบาท มาจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 3,800 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 14,000 ล้านบาท ค่าระบบอาณัติสัญญาณ 19,000 ล้านบาท