สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ว่า จากกรณีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งทวิตเตอร์ระงับสถานะบัญชีผู้ใช้งานของผู้สื่อข่าวสังกัดสื่อใหญ่หลายแห่งของสหรัฐหลายคน ทั้งจาก “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” “ซีเอ็นเอ็น” “เดอะ วอชิงตัน โพสต์” และ “วอยซ์ ออฟ อเมริกา” นอกจากนั้น บัญชีผู้ใช้งานของผู้สื่อข่าวอิสระชื่อดังอีกหลายคนถูกระงับเช่นกัน


ทั้งนี้ บัญชีของผู้สื่อข่าวที่ได้รับผลกระทบ ล้วนมีประวัติการให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของนายอีลอน มัสก์ เจ้าของและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทวิตเตอร์ อย่างไรก็ตาม “เดอะ เวิร์จ” ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวสารในแวดวงเทคโนโลยี รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในทวิตเตอร์ ว่า มาตรการระงับที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการที่บัญชีเหล่านี้รีทวีตหรือโควตข้อมูล เกี่ยวกับการเดินทางแบบเรียลไทม์ ของมัสก์และสมาชิกในครอบครัวนั้น


ขณะที่มัสก์ประกาศจัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ติตดามบนทวิตเตอร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ควรคืนสถานะบัญชีให้แก่ผู้สื่อข่าวกลุ่มดังกล่าว “ทันที” หรือ “ภายใน 1 สัปดาห์”


ผลปรากฏว่า เมื่อครบเวลาให้ลงคะแนน เกือบ 59% ของผู้ตอบการสำรวจราว 3.69 ล้านคน ลงคะแนนให้ตัวเลือก “ทันที” พร้อมทั้งมีการวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับ “เสรีภาพการออกความเห็น” ซึ่งมัสก์กล่าวว่า เขาเคารพการตัดสินใจของผู้ตอบแบบสอบถาม และจะปฏิบัติตามนั้น ซึ่งต่อมา บัญชีผู้ใช้งานของ แอรอน รูปาร์ หนึ่งในผู้สื่อข่าวอิสระชื่อดัง กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง


ในอีกด้านหนึ่ง สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างออกแถลงการณ์ “แสดงความวิตกกังวล” ต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนนี้ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส เสนอรายงานโดยอ้างเป็นข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในอียู ว่า นายตีแยรี เบรตอง ข้าหลวงด้านการกำกับดูแลตลาดภายในของอียู กล่าวว่า ทวิตเตอร์ “อาจถูกแบน” หรือ “ต้องชำระค่าปรับจำนวนมหาศาล” หากละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องของอียู หลังมัสก์วิจารณ์กฎหมายบริการดิจิทัลของสหภาพว่า “อ่อนไหวมาก”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES