ปีกระต่ายที่กำลังมานี้ มีคนถามว่าเศรษฐกิจจะดี รายได้จะขึ้นแค่ไหน? ยังไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่ชาวบ้านตาดำ ๆ ต้องเตรียมใจรับมือแน่ ๆ คือต้นทุนชีวิต รายจ่ายที่จ่อทะยานขึ้นแบบบานตะเกียงแน่นอน ซึ่งปีนี้จะมีอะไรที่แพงขึ้นบ้าง “ทีมเศรษฐกิจรวบรวมพามาให้ติดตามกัน

แพงทั้งแผ่นดินยังไม่จบ
เริ่มกันตั้งแต่ ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค หลังจากปีก่อนพาเหรดขึ้นยกแผง จนเรียกยุค “แพงทั้งแผ่นดิน” ทั้งเนื้อหมู ไก่ ไข่ ผัก ผลไม้ ข้าวของเครื่องใช้ พาเหรดแพงขึ้นทั้งหมด มาปีนี้ทีแรกนึกว่าจะเบาใจได้…ทว่าเมื่อรัฐบาลประกาศเปรี้ยง จ่อขึ้นค่าไฟภาคการผลิตหน่วยละ 5.69 บาท ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็จับชาวบ้านเป็นตัวประกันทันที ขู่โยนภาระขึ้นราคาสินค้าให้ประชาชน 5-12% บูชายัญค่าไฟที่เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้ไฟฟ้าเยอะเสี่ยงที่จะขึ้นราคาก่อนมี 11 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ เคมี, เหล็ก, เยื่อและกระดาษ, อะลูมิเนียม, หล่อโลหะ, แก้วกระจก, ปูนซีเมนต์, เซรามิก, อาหารและเครื่องดื่ม, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี ประเมินคร่าว ๆ ปรับเพิ่มขึ้น 9-12% นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าปานกลางอีก 16 กลุ่ม ได้แก่ ยาง, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, เฟอร์นิเจอร์, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ต่อเรือและซ่อมแซม, ก่อสร้างและงานเหล็ก, แกรนิตและหินอ่อน, น้ำตาล, น้ำมันปาล์ม, หลังคาและอุปกรณ์มีโอกาสขึ้นราคา 6-8%

ค่าไฟฟ้า พุ่งพรวด
ต่อกันเลยที่ ค่าไฟ วันนี้รัฐบาลยอมขัดใจภาคเอกชนประกาศขึ้นค่าไฟผันแปรอัตโนมัติหรือเอฟที งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ไปแล้วโดยกลุ่มที่กระทบก่อนคือ ภาคอุตสาหกรรม บริการ เอสเอ็มอี ท่องเที่ยวที่ต้องจ่ายค่าเอฟทีแพงขึ้นเกือบหน่วยละ 1 บาท เป็น 5.69 บาท แต่ยังดีที่คนใช้ไฟบ้านรอดตัวไป เพราะรัฐบาลยังยอมตรึงราคาไว้เท่าเดิมที่หน่วยละ 4.72 บาท อย่างไรก็ดี ค่าเอฟทีงวดต่อ ๆ ไป ใครจะไปรู้ว่ารัฐจะอุ้มต่อได้อีกแค่ไหน? ดังนั้น ค่าไฟปีนี้จึงมีโอกาสแพงขึ้นได้

ต้นทุนชีวิตอีกอัน ที่ทำใจรอรับได้เลยว่าโดนแน่ๆก็คือ ราคาพลังงาน หลังรัฐบาลส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้วว่าอั้นไม่ไหว เห็นได้จากราคาก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถยนต์ ปรับขึ้นไปแล้ว กก.ละ 1 บาท เป็น 17.59 บาท มีผลจนถึง 15 มี.ค. 66 จากนั้นค่อยมาลุ้นกันต่อว่า จะขึ้นหรือลงอีก รวมถึงก๊าซหุงต้ม ที่ล่าสุดกระทรวงพลังงานกัดฟันต่อเวลาตรึงราคาถังละ 15 กก. 408 บาท อีกแค่เดือนเดียว ถึง 31 ม.ค. 66

แม่บ้าน-อาหารตามสั่งร้องจ๊าก
หลังจากนั้นก็คาดกันว่าราคาแก๊สถังน่าจะขยับขึ้นอีก เพราะท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังจบยาก ที่สำคัญหากคิดตามต้นทุนที่แท้จริงวันนี้ราคาแก๊สถังพุ่งไป 480 บาทแล้ว แถมกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีบัญชีแอลพีจีติดลบไปกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ใกล้จะทะลุเพดาน 4.5 หมื่นล้านบาท อีกก็น่าหวั่นใจไม่น้อย ส่วนราคาน้ำมันขึ้น ๆ ลง ๆ แทบรายวัน แต่ที่ต้องลุ้นกันตัวโก่งคือราคาดีเซลที่ยังตรึงอยู่ 35 บาทต่อลิตร แต่ต้องแลกกับเงินชดเชยภาษีลิตรละ 5 บาท ซึ่งไม่รู้ภาระการคลังจะแบกรับได้อีกแค่ไหน

กระเป๋าตังค์สะดุ้ง ราคาที่ดินพุ่ง
ข้ามฟากมาวงการ อสังหาริมทรัพย์ สำหรับคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยคงต้องหนักอกหนักใจไม่น้อย เพราะในปี 66 กรมธนารักษ์ ประกาศหนักแน่นถึงเวลาต้องขึ้นราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียที หลังจากไม่ขึ้นมา 7 ปี โดยราคาประเมินที่ดินใหม่เพิ่มเฉลี่ยทั้งประเทศ 8.93% ขณะที่ราคาประเมินเพิ่มขึ้น 6.21% เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.66 ที่ผ่านมา  

ราคาที่ดินที่แพงสุด ยังเป็นย่านสีลม วิทยุ ตารางวาละ 1 ล้าน ขณะที่ราคาประเมินที่ดินในกรุงเทพฯ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.76% โดยเขตห้วยขวาง ราคาพุ่งสุด เพราะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตัดผ่าน ส่วนต่างจังหวัดที่แพงขึ้นมากสุดอยู่ในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ซึ่งผลกระทบจุดนี้มีผลตรงต่อรายจ่ายในกระเป๋าของประชาชน เพราะราคาประเมินจะถูกนำไปใช้ประกอบการคิดค่าธรรมเนียมการโอนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนการจดจำนอง

ไม่เพียงแค่นั้น ราคาประเมินยังถูกนำไปใช้คำนวณการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปีนี้รัฐบาลเก็บเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้ต่อมาจะยอมลดเป็นของขวัญปีใหม่ให้เหลือ 85% แต่อย่างไรก็ดี ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สูงเพิ่มเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนไทยต้องก้มหน้าจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น

นอกจากผลกระทบทางตรงแล้ว ราคาประเมินยังกระทบทางอ้อมต่อราคาบ้าน ที่อยู่อาศัยให้แพงขึ้นได้ เพราะนอกจากเรื่องเหล็ก หิน ปูน ทราย ที่แพงขนหัวลุกแล้ว ราคาที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการปลูกบ้าน ก็มีโอกาสขยับขึ้นตามราคาประเมินเช่นกัน โดยเฉพาะในทำเลเด่น ๆ คาดปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10-20% เมื่อผนวกราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่พุ่งขึ้นไม่หยุดและปัญหาราคาพลังงาน ดอกเบี้ยขาขึ้น สมาคมอสังหาริมทรัพย์ก็คาดว่ามีโอกาสที่ราคาบ้าน คอนโดฯ ในปีนี้ จะขึ้นราคาได้อีก 10% เลยทีเดียว

แมงเม่า-ลูกหนี้
หนาวปากสั่น ต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้นในปีกระต่าย ยังส่งผลไปถึงบรรดาแมงเม่านักลงทุนในตลาดหุ้นที่ปี 66 ต้องเจอฟ้าผ่ากลางวันแสก ๆ โดยรัฐบาลที่อยู่ในช่วงกำลังร้อนเงินต้องหารายได้มาอุดรายจ่ายให้พอ จึงต้องเก็บภาษีจากการขายหุ้น 0.11% เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี เพื่อรีดรายได้เข้ากระเป๋ารัฐปีละ 15,000-16,000 ล้านบาท เริ่มเก็บช่วงกลางปีก่อน 0.055% จากนั้นปี 67 ค่อยเก็บเต็ม ๆ ซึ่งเท่ากับว่า หลังจากนี้บรรดาแมงเม่า นอกจากจะขายหุ้นเจ๊ง ขาดทุนติดดอย ก็ยังต้องจ่ายภาษีด้วยหากขายทิ้งออกมา

ดอกเบี้ยขาขึ้นก่ายหน้าผาก
ปิดท้าย เป็นเคราะห์กรรมของ คนที่กำลังกู้หนี้ยืมสิน อาจเผชิญชีวิตลำบากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งรวด เป็น 1.25% และรัฐบาลพยายามแตะเบรกให้นายแบงก์ช่วยตรึงดอกกู้ ประคองลูกหนี้ไปก่อน แต่มาในปี 66 ดูท่าทางจะขอให้ช่วยอีกไม่ไหว

เมื่อปลายปี บรรดาแบงก์พาณิชย์ก็ทยอยขึ้นดอกกู้กันแบบเบา ๆ ไปแล้ว และคาดว่าในไตรมาสแรกปี 66 นี้ อาจเห็นอีกหลายแบงก์ทยอยขึ้นอีก ทั้งดอกเบี้ยฝาก ดอกเบี้ยกู้ โดยเฉพาะแบงก์รัฐที่คงฝืนธรรมชาติต่อไปไม่ไหว น่าจะขึ้นแน่นอน

ที่สำคัญ นายแบงก์หลายค่ายได้ประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยปี 66 เป็นไปในทิศทางเดียวกันแบบเอกฉันท์ว่า ตลอดปี ดอกกู้จะขึ้นอย่างน้อย ๆ 0.40-0.60% เรียกว่าใครกู้บ้านหรือมีหนี้ ก็เตรียมตัวหาเงินมาจ่ายเพิ่มกันได้เลย

เชื่อว่าวิบากกรรมของคนไทยคงยังไม่จบลงแค่นี้ เพราะตลอดปี 66 ท่ามกลางที่ทั่วโลกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอย และกำลังอยู่ช่วงที่รัฐบาลกำลังจะเปลี่ยนผ่าน คนไทยยังต้องทำใจที่จะเจออะไรเซอร์ไพร้ส์อีกเยอะ ซึ่งเรื่องนี้คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจ เพราะสุดท้ายชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันต่อไป.