จังหวัดจันทบุรีจัดเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 300,000 ไร่ และในปี 67 ได้ผลผลิตรวมมากกว่า 550,000 ตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 100,000 ล้านบาท จากการนำผลผลิตส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีน สร้างรายได้มหาศาลให้กับเกษตรกรในพื้นที่
“วิวัฒน์ วงษ์สกุลไชยะ” รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มจัดการพื้นที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 เล่าว่า จุดกำเนิดของความสำเร็จวันนี้ ขอย้อนกลับไปถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ด้วยทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านการเกษตร มีพระราชดำริว่าในอนาคตจะมีการขยายการทำสวนผลไม้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดซื้อที่ดินในอำเภอมะขาม จำนวน 109 ไร่ และมีพระราชดำริกับคณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์พัฒนาไม้ผลขึ้น ในปี 24 ให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแก่ราษฎร และสร้างแหล่งนํ้าไว้ใช้ในฤดูแล้ง
พระองค์มีพระราชดำรัสเน้นยํ้าถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าและป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นรากฐานและปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชน ด้วยทรงยํ้าเสมอว่านํ้าคือหัวใจของการดำรงชีวิต และเราจะต้องเป็นผู้รักษาแหล่งนํ้า เช่นเดียวกับที่เราจะต้องเป็นผู้อนุรักษ์ป่า ขณะเดียวกันสำหรับด้านการเกษตร พระองค์ทรงแนะนำวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเองและพึ่งพาธรรมชาติ โดยให้เกษตรกรได้เรียนรู้ที่จะเก็บรักษาพันธุ์พืชต่าง ๆ ไว้ด้วยตนเอง มิใช่การพึ่งพาการซื้อพันธุ์พืชจากบริษัทเอกชนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้มีทางเลือกและการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน ศูนย์ฯแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่บูรณาการองค์ความรู้จากการวิจัย เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ของจังหวัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ ศูนย์แห่งนี้ยังถือเป็นสถานที่สำคัญในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เอง ที่เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีเกษตรกรรมไทย โดยเฉพาะการเพาะปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเกษตรกรจันทบุรี ที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้การผลิตและการประกอบอาชีพดำเนินไปอย่างสมดุลและพร้อมจะรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอนาคต
นี่คือหลักการสำคัญที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรีได้ถ่ายทอดและปลูกฝังให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการสานต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
“วิชชุดา ไตรธรรม” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ในฐานะผู้จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษาต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา หนึ่งในโครงการที่ผลักดันการนำศาสตร์พระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้อย่างแท้จริง การมาศึกษาดูงานในพื้นที่นี้จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมว่าประเทศไทยควรกำหนดทิศทางการพัฒนาไปในแนวทางใด เราจึงมุ่งมั่นที่จะสืบสานและเผยแพร่องค์ความรู้อันลํ้าค่านี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น โดยในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ เราก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพันธมิตรผู้ร่วมอุดมการณ์ ได้แก่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม, อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) รวมถึง ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี เพื่อร่วมกันนำพาประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ในขณะที่จันทบุรีครองสถานะผู้นำด้านการผลิตและส่งออกทุเรียนของโลก แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อรักษาความได้เปรียบและพัฒนาศักยภาพของจังหวัดให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งหนึ่งในความท้าทายสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของทุเรียนที่ผลิตได้ เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวและหาวิธีรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น และอีกประการคือการแข่งขันจากประเทศผู้ผลิตทุเรียนรายอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งพยายามเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด ดังนั้นจันทบุรีต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานคุณภาพและสร้างจุดเด่นเฉพาะตัว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการทุเรียนทั้งในและต่างประเทศนั้นมีเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นโอกาสสำคัญของจันทบุรีที่ต้องไม่พลาดในการขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออก การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ๆ การปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนให้ดียิ่งขึ้น และการสร้างนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์และการตลาด จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจันทบุรีในอนาคต
ความสำเร็จของทุเรียนเมืองจันทบุรี นับเป็นผลจากพระวิสัยทัศน์และความตั้งพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้แก่ประเทศและปวงชนชาวไทย และด้วยการวางแผนที่ดี ประกอบกับการปรับตัวอย่างเหมาะสม จันทบุรีจะยังคงมีโอกาสอันดีในการดำรงสถานะ “เมืองหลวงแห่งทุเรียนโลก” พร้อมสร้างรายได้และคุณค่าให้กับชาวจันทบุรีและประเทศชาติได้ต่อไป.