เรื่องดิจิทัลไอดี (Digital Identity) จะไม่ใช่เรื่องใหม่หรือไกลตัวอีกต่อไป!?!

เมื่อพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2565 หรือที่เรียกว่า “กฎหมายดิจิทัลไอดี” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 มิ.ย.66 นี้

วันนี้จะพามาทำความรู้จักเรื่องนี้กัน ซึ่ง “ดิจิทัลไอดี” ก็คือ อัตลักษณ์ส่วนบุคคลของเรา ที่ถูกรวบรวมและบันทึกในรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้บ่งบอกหรือจำแนกบุคคลในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตัวอย่างคุณลักษณะ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลธรรมดา เช่น เลขประจำตัว ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ ภาพใบหน้า อีเมล หรือข้อมูลระบุอุปกรณ์ที่บุคคลใช้งาน เป็นต้น ส่วนตัวอย่างคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล เช่น เลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ชื่อกรรมการของนิติบุคคล เป็นต้น

ภาพ pixabay.com

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี “ดิจิทัลไอดี” ที่ให้บริการอยู่คือ ดี.โดป้า( D.Dopa) ของกรมการปกครอง บริการแอพ “ทางรัฐ” ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล บริการ โมบายไอดี (Mobile ID) ของ สำนักงาน กสทช. บริการแอพ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุข และบริการ NDID ของ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ที่จัดทำให้กลุ่มธนาคารใช้งานอยู่

โดยในส่วนของระบบ ดี.โดป้า และ โมบาย ไอดี รวมถึงบริการของรัฐมีทำดิจิทัลไอดีใช้งานอยู่หลักแสนราย ส่วน บริการ NDID ที่จัดทำให้กลุ่มธนาคาร มีผู้ใช้งานประมาณอยู่ 5 ล้านราย

จะเห็นได้ว่าการใช้งานดิจิทัลไอดีของคนไทยยังน้อยอยู่ !?! ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบ ใน “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565-พ.ศ. 2567” หรือ “ดิจิทัล ไอดี เฟรมเวิร์ก” เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางของประเทศ ในการบูรณการความร่วมมือ และการขับเคลื่อนงาน ภายใต้แผนปฏิบัติการที่จะช่วยเร่งผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 66 นี้ จะมีคนไทยใช้ ดิจิทัลไอดี ของทุกระบบจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านราย!?!

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยอมรับว่า การรับรู้เรื่อง ดิจิทัลไอดี ของคนไทยยังน้อยอยู่ เลยทำให้มีคนไปทำดิจิทัลไอดีและใช้งานกันน้อยอยู่ จากนี้จะสร้างการรับรู้และการใช้งานให้แพร่หลายมากขึ้นโดยยืนยันว่าการที่ประชาชนมีดิจิทัลไอดี จะไม่ต่างจากการมี บัตรประจำตัว ประชาชน บนโลกออฟไลน์ ช่วยให้ การพิสูจน์และ ยืนยันตัวตน ทางดิจิทัลทำได้ง่าย ต่อไปการทำธุรกรรมทาง ออนไลน์ต่างๆ ก็จะมีความสะดวก ลดการใช้กระดาษ ขณะเดียวกันการติดต่อ หน่วยงานราชการเพื่อทำเรื่องต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องพก บัตรประชาชนแล้ว!!

ภาพ pixabay.com

และในอนาคตรัฐบาลจะพยายามเชื่อมโยงระบบ ที่มีให้บริการให้มีฐานข้อมูลเดียวกันให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะมีระบบของกรมการปกครองเป็นระบบหลัก เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่จัดทำเรื่องบัตรประจำตัว เข้าถึงประชาชนได้มาก ประชาชนและมีฐานข้อมูลของคนไทยอยู่แล้ว รวมถึงจะมีการเร่งพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า ทางดิจิทัล หรือ เอฟวีเอส เช่นเวลาเดินทางขึ้นเครื่องไม่ต้องพบบัตรประชาชน ฯลฯ”

ทั้งนี้ ในการที่ประชาชนต้องการมีดิจิทัล ไอดี ไว้ใช้งานนั้น สำหรับ ดี.โดป้า สามารถแจ้งความจำนงค์ได้ที่ทำการอำเภอ ส่วน โมบายไอดี ที่ทาง กสทช. ร่วมทำกับค่ายมือถือต่างๆ นั้น สามารถสมัครใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการของค่ายมือถือ ขณะที่ บริการ NDID นั้น เวลาเราไปใช้บริการของธนาคาร เช่น เปิดบัญชี ธนาคารส่วนใหญ่จะให้ลูกค้าทำดิจิทัลไอดีทุกคน

ด้าน “ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า บอกว่า สำหรับ กฎหมายดิจิทัลไอดีที่กำลังจะบังคับใช้ช่วงกลางปีนี้นั้น สาระสำคัญ คือ การกำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับ การควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต ซึ่งหน่วยงานใดต้องการให้บริการดิจิทัลไอดี จะต้องมายื่นของอนุญาตกับทางเอ็ตด้า

ภาพ pixabay.com

 ซึ่งทางเอ็ตด้าในฐานหน่วยงานกำกับดูแล จะมีการตรวจสอบระบบของหน่วยงานนั้นก่อนที่จะอนุญาตให้บริการ ทั้งในเรื่อง  มาตรการบริหารและการจัดการความเสี่ยงของระบบการให้บริการ และการจัดการกรณีฉุกเฉิน การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบการให้บริการและการตรวจสอบ การควบคุมดูแลและ ป้องกัน การทุจริตหรือการฉ้อโกงจากการใช้งานระบบ มาตรฐานการให้บริการที่รวมถึงการจัดการและจัดเก็บข้อมูล และที่สำคัญคือการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และมาตรการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ ฯลฯ

โดยหน่วยงานใดที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ทางเอ็ตด้า ก็จะเข้าไปตรวจสอบถึงมาตรฐานต่างๆ ในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

 จากนี้ไปจะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเปิดการใช้งาน “ดิจิทัลไอดี” ให้กับประชาชน อย่างแพร่หลาย มากขึ้นอย่างแน่นอน!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์