เมื่อวันที่ 23 ม.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประชุมวิชาการ ปัจจุบันสู่อนาคตการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ “สื่อสาน ส่งเสริม สู่การปฏิบัติ” ครั้งที่ 5 ภาคกลาง ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี จ.ปทุมธานี ว่า  อาชีวศึกษาจะต้องขับเคลื่อนด้วยการเติมทักษะพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์แรงงานอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนทวิภาคีถือเป็นหัวใจหลักสำคัญที่จะสร้างอาชีพให้แก่ผู้เรียนในอนาคต ซึ่งตนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเพิ่มความร่วมมือด้านทวิภาคีให้ได้ 50% ในปีการศึกษา 2568 และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเปราะบาง ยากจน หรือกลุ่มที่ตกหล่นออกนอกระบบ โดยตนเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการอาชีวศึกษา รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับการเรียนการสอนสายอาชีพว่ามีอุปสรรคในเรื่องใดให้ส่วนกลางช่วยเหลือหรือสนับสนุนบ้าง เพื่อให้การเรียนการสอนอาชีวะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าด้านต่างๆมากขึ้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จำนวน 48 แห่งนั้น ที่ผ่านมากรจัดการศึกษาของกลุ่ม วษท.มุ่งเน้นการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่จากนี้ไป วษท.จะต้องปรับรูปแบบการสอนให้ทันสมัยสอนการทำเกษตรขั้นสูงหรือเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เด็กเรียนแล้วได้เงินและประกอบอาชีพได้  ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้าการจัดการศึกษาอาชีวะขณะที่ครุภัณฑ์การเรียนการสอนมีสภาพทรุดโทรมนั้น ในประเด็นนี้ทุกปีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีนโบบายและแนวทางในการสำรวจและปรับปรุงคุรุภัณฑ์ของสถานศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งหากวิทยาลัยไหนขาดแคลนครุภัณฑ์สามารถทำเรื่องของงบประมาณการจัดสรรมายังส่วนกลางได้ ทั้งนี้ จะต้องตรงตามสเปกและสอดคล้องกับการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพต่างๆ ด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ขณะเดียวกันเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนคุณภัณฑ์ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์กับพัฒนาหลักสูตร และจะช่วยทำให้สามารถผลิตกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.