กลายมาเป็นประเด็นสำคัญของสังคมไทย ภายหลัง ดาราสาวไต้หวัน ออกมาแฉพฤติกรรมตำรวจไทย ที่จับกุมรีดเงินระหว่างเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วผ่านด่านตำรวจถูกเรียกค้นพบบุหรี่ไฟฟ้า และจะถูกข่มขู่ด้วยข้อกฎหมาย จนนำไปสู่การรีดทรัพย์นักท่องเที่ยว เกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับประเทศ ณ ขณะนี้ วันนี้ เดลินิวส์ ออนไลน์ จึงจะพาไปทำความรู้จักข้อกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้าและจำหน่ายจะเป็นอย่างไร

ฉาวไม่แผ่ว! ดาราสาวไต้หวันอ้างถูกโปลิศไทยรีดเงิน 2.7 หมื่น ลั่นจะไม่มาเที่ยวอีกแล้ว

สืบเนื่องจากนโยบาย “ปลอดภัยไว้ก่อน เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด” ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้คงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตามจุดยืนของประเทศไทยในฐานะประเทศรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงประชาชนทุกคน ไม่ให้ได้รับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นจุดกำเนิดของการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชน อีกทั้งไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้และยังส่งผลเสียต่อสังคม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเตรียมพิจารณาหากเข้าเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอเข้า (ครม.) เพื่อให้ทราบมติจากที่ประชุมต่อไป

สำหรับบทลงโทษบุหรี่ไฟฟ้าสินค้าต้องห้าม บุคคลที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครองตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

นอกจากนี้ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขายต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.