กรณีเดลินิวส์ ออนไลน์ เปิดตัวบทกฎหมาย ให้แฟนๆทำความรู้จักข้อกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้าและจำหน่ายจะเป็นอย่างไร หลังปรากฏข่าว ดาราสาวไต้หวัน ออกมาแฉพฤติกรรมตำรวจไทย ที่จับกุมรีดเงินระหว่างเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วผ่านด่านตำรวจถูกเรียกค้นพบบุหรี่ไฟฟ้า และจะถูกข่มขู่ด้วยข้อกฎหมาย จนนำไปสู่การรีดทรัพย์นักท่องเที่ยว เกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับประเทศ ณ ขณะนี้ ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

เปิดบทลงโทษ! ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ จากข้อกฎหมายสู่ชนวนเหตุรีดเงินดาราไต้หวัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ทาง เดลินิวส์ออนไลน์ ได้มีการหาข้อมูลเพิ่มเติม พบบทความเก่าในเว็บไซต์ “ศยจ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ” เคยมีการประชาสัมพันธ์ ประเด็นที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าไว้นานแล้วระบุว่า “ตามที่มีกลุ่มบุคคล พยายามแอบอ้าง เหมารวมว่าทาง ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มีความเห็นร่วมว่า “การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เป็นความผิด” ไม่เป็นความจริง!!! เพราะถ้าพิจารณาจากหลักกฎหมายที่บังคับใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ตอนนี้ คือ

1.ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 โดยหน่วยงานที่สนับสนุนการบังคับใช้ คือ กรมศุลกากรในการตรวจจับ
2.ห้ามขาย ห้ามให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558
3.สูบในสถานที่สาธารณะ มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

ที่สำคัญก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564 ยืนยันว่า ผู้ครอบครองอ้างว่าไม่รู้ ว่าไม่ผิดกฎหมายไม่ได้ แม้คดีนี้จะเป็นเรื่องการครอบครองเตาบารากู่ แต่กฎที่ใช้ก็ใช้บังคับกับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าคิดข้อเท็จจริง การที่บุคคลคนหนึ่ง “ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า” ก็ย่อมต้องเกิดคำถามขึ้นอยู่แล้วว่า คุณได้บุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างไร เพราะโดยต้นทางของระบบกฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของไทยเราดักตั้งแต่ต้นทาง คือ “ห้ามนำเข้า” และกำจัดบุหรี่ไฟฟ้าที่มีในประเทศด้วยการ “ห้ามขาย/ห้ามบริการ” จึงอาจกล่าวได้ว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าก็ย่อมมี “ความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี”

การตีความกฎหมายเพื่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเราชัดเจน เจตนารมณ์เราไม่ต้องการสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มาอยู่ในประเทศเรา สิ่งสำคัญที่สุดของประเทศไทย ตอนนี้ไม่ใช่การมาถกเถียงเรื่องครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ควรสนับสนุนภาครัฐในการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิผลมากกว่า กับ กฎหมายเดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ ฝ่ายที่กล่าวอ้างว่า ขนาดมีกฎหมายห้ามเด็ดขาดยังขายกันเกลื่อน และการที่มีกฎหมายมาควบคุม ซึ่งไม่ได้ห้ามเด็ดขาด จะรับประกันได้อย่างไรว่า จะไม่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่

ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากเสี่ยงต่อผลกระทบต่อสุขภาพ ยังเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ทาง ศจย. จึงขอเสนอต่อทุกท่านว่า “อย่าไปยุ่งกับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าพวกนี้เลย”

สุดท้าย ข้อเสนอแนะ ศจย. ต่อกรณีนี้ คือ การสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ภายใต้องค์การอนามัยโลก เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย จะดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ตอนนี้

ขอบคุณข้อมูล-ภาพ เว็บไซต์ “ศยจ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ”