กรณี พ.ต.ท.ชุมพล แสนวิชัย รอง ผกก.ป.สภ.หนองปรือ ชลบุรี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบหมู่บ้านหรูแห่งหนึ่ง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังมีชาวบ้านร้องเรียนพบว่า มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่บ้านหลังดังกล่าว เลี้ยงสิงโตแบบปล่อยให้เดินเพ่นพ่านภายในบ้าน หวั่นเกิดอันตรายกับชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านหรือบริเวณดังกล่าว ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ผวายกหมู่บ้าน! พบชาวจีนสุดชิลเลี้ยง ‘สิงโตขาว’ ปล่อยเดินเพ่นพ่าน หวั่นเด็กเล็กถูกกิน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ภายหลังมีการนำเสนอข่าวดังกล่าว จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำเลี้ยงสัตว์อย่างสิงโต ที่ถือเป็นสัตว์ป่านักล่ากินเนื้อที่มีตัวขนาดใหญ่ เข้ามาในประเทศไทยโดยเลี้ยงแบบปล่อยได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ทางเดลินิวส์ ออนไลน์ จึงตรวจสอบพบข้อมูลปรากฏตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 กำหนดให้สิงโต (Panthera Leo) เป็นสัตว์ป่าควบคุม หรือซากสัตว์ป่าควบคุม ที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง กำหนดระยะเวลาการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าควบคุม ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ ประกาศเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 มีผลใช้บังคับใช้เมื่อพ้นหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้กำหนดให้ผู้มีสิงโต (Panthera Leo) ไว้ในครอบครอง ให้แจ้งการการครอบครองภายในระยะเวลาเก้าสิบวัน นับแต่ประกาศนี้ใช้บังคับ โดยแบ่งเป็น
- ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองมาก่อนวันที่ประกาศ (18 ตุลาคม 2565) ให้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2565-16 มีนาคม 2566)
- ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองหลังประกาศ (18 ตุลาคม 2565) สามารถแจ้งครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยต้องมีเอกสารหลักฐานการได้มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อยืนยันการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถใช้บันทึกแจงรายละเอียดการได้มาซึ่งสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าควบคุมได้
- ดังนั้น ตามข้อ 1. และ 2. ในขณะนี้ การครอบครองสิงโต จึงยังไม่มีความผิด
- เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้แจ้งครอบครองสิงโต หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสิงโตหรือซากสิงโตดังกล่าว จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 19 และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- สิงโตได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งและการครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตวป่าควบคุม พ.ศ. 2565 หมายความว่า “สัตว์ป่าควบคุม” ซึ่งตามระเบียบนี้ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ด้วยลักษณะสายพันธุ์มีความดุร้ายหรือด้วยลักษณะนิสัย พฤติกรรมอาจ สร้างความหวาดกลัวหรือทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของมนุษย์ได้ ดังนั้นก่อนการออกใบรับแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าควบคุมตามมาตรา 19 วรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบสถานที่หากเห็นว่าไม่มีสวัสดิภาพและความเหมาะสมหรือความปลอดภัยเพียงพอ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้แจ้งการครอบครอง แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าควบคุม ภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ใดประสงค์ดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสิงโต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 28 หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม มาตรา 30 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเสนอการออกระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติในการการแจ้งการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าควบคุม (รวมถึงสิงโต) ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อผ่านการพิจารณา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากสิงโต อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก จึงต้องมีการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ ในการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าสิงโตต่อไป