น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอส ขอให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเซ็นเอกสาร ทั้งการเซ็นเอกสารในรูปแบบกระดาษ การเซ็นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า การเซ็นเอกสารด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) และการเซ็นเอกสารด้วยลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ขอให้ท่านตรวจสอบเอกสารต่าง ๆอย่างรอบครอบ ก่อนการเซ็นเอกสารทุกครั้ง เพื่อป้องกันการโดนหลอกลวงให้เซ็นเอกสารที่ไม่ตรงกับรายละเอียดและเนื้อหาที่ท่านได้รับแจ้งก่อนการเซ็นเอกสาร เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

“เพื่อเป็นการป้องกันและตระหนักรู้ของประชาชนในการเซ็นเอกสารต่างๆ อาทิ เอกสารการขอกู้เงิน เอกสารเซ็นค้ำประกัน เอกสารรับรองมรดก และเอกสารถอนเงินธนาคาร เป็นต้น ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเซ็นเอกสารต่าง ๆ ดีอีเอส ขอให้ท่านตรวจสอบเอกสาร อ่านและทบทวนเอกสารให้เข้าใจก่อนจะเซ็นเอกสาร หรือพิมพ์ลายนิ้วมือทุกครั้ง แม้ว่าบุคคลที่นำเอกสารมาให้ท่านเซ็นจะเป็นญาติสนิท หรือ คนใกล้ชิด เนื่องจากหากมีผู้ไม่หวังดีกับท่านให้เซ็นเอกสารที่มีรายละเอียดไม่ตรงกับที่แจ้งด้วยปากเปล่า หรือแจ้งรายละเอียดเพียงเล็กน้อยแล้วท่านได้เซ็นเอกสารเพราะความไว้ใจ อาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายและทรัพย์สินกับตัวท่านได้”

น.ส.นพวรรณ กล่าวต่อว่า ตัวอย่าง ความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการที่ผู้เสียหายโดนน้องชายแท้ ๆ หลอกว่า กู้ธนาคารได้แต่น้องชายแอบปลอมสเตตเมนต์ไปยื่นกู้ 1.2 ล้านบาท และบอกพี่ชายว่า กู้เงินแค่ 100,000 บาท โดยได้เงินมา 80,000 บาท สุดท้ายโดนแบงก์ฟ้องยึดบ้าน กำลังขายทอดตลาด แถมโดนกองปราบปรามดำเนินคดีใช้เอกสารปลอมกู้เงิน ชีวิตไปต่อไม่ได้ ต้องรับผิดชอบหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น

หรือกรณีการแบ่งทรัพย์สินมรดกในครอบครัว หากผู้ไม่หวังดีในครอบครัวต้องการที่จะหลอกลวงบุคคลภายในบ้านโดยให้ทุกคนเซ็นเอกสาร แต่ไม่ใส่รายละเอียดของการเซ็นเอกสาร สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะทำทุกคนในครอบครัวเสียทรัพย์สินมรดกให้กับบุคคลที่ไม่หวังดีในครอบครัวที่นำเอกสารให้ทุกคนเซ็นเอกสารโดยไม่แจ้งรายละเอียดใด ๆ ได้ เนื่องจากผู้ไม่หวังดีสามารถที่จะพิมพ์ใส่รายละเอียดละรายการทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นมรดกในเอกสาร หลังจากที่มีการเซ็นเอกสารของทุกคนแล้ว อาจส่งผลให้มรดกของครอบครัว จะตกไปยังผู้ไม่หวังดีเพียงคนเดียวได้ เป็นต้น.