สำนักข่าวซินหัว รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ แมชชีน อินเทลลิเจนซ์ ( Nature Machine Intelligence ) ระบุว่า เทคโนโลยีข้างต้นช่วยให้ยานยนต์ปรับปรุงสมรรถนะได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมระหว่างขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการดั้งเดิม ที่มุ่งฝึกให้รถยนต์เรียนรู้สถานการณ์การขับขี่หลายแบบล่วงหน้ามากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติแบบดั้งเดิม ใช้อัลกอริทึมที่รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านการฝึกฝนซึ่งใช้ระยะเวลานาน และตัวรถยนต์จะถูกตั้งค่าแผนรับมือล่วงหน้าในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ยานยนต์อาจไม่รู้วิธีการตอบสนองในสถานการณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนมา และอาจก่อความเสี่ยงด้านความปลอดภัยขณะขับขี่
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยประเมินเทคโนโลยีใหม่ ผ่านการจำลองสถานการณ์และการทดสอบบนท้องถนน ซึ่งผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า รถยนต์สามารถเรียนรู้ข้อมูลในสถานการณ์ใหม่ ๆ ขณะที่สมรรถนะของรถยนต์ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีระยะทางขับขี่และปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น
อนึ่ง เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการนำไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรก กับยานพาหนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งกรุงปักกิ่ง เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2565 และจะได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม ในการทดสอบขนานใหญ่บนถนนเปิด ในหลากหลายสถานการณ์ต่อไป.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA