ในช่วงนี้ “ราคาทองคำ” มีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุด วันนี้ (18 มี.ค. 66) ปรับเพิ่มขึ้นมา 500 บาท ทำให้ราคาทองคำแท่ง รับซื้อที่บาทละ 31,650 บาท ขายออกที่บาทละ 31,750 บาท และทองรูปพรรณ รับซื้อที่บาทละ 31,078 บาท ขายออกที่บาทละ 32,250 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้น “สูงสุดในรอบ 1 ปี” นับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 65 ราคาทองคำแท่ง รับซื้อที่บาทละ 31,600 บาท ขายออกที่บาทละ 31,700 บาท และ ทองรูปพรรณ รับซื้อที่บาทละ 31,032.52 บาท ขายออกที่บาทละ 32,200 บาท

หลายคนคงสงสัยว่า ราคาทองขึ้น-ลง ทุกวันนี้เกิดจากอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะคิดเป็นเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ไหนบ้าง

⁃   นโยบายการเงินของรัฐและอัตราดอกเบี้ย

หากดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังดี ราคาทองคำก็จะมีแนวโน้มปรับตัวลง แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดการเงินการลงทุนผันผวน ทองคำก็มักราคาสูงขึ้น เพราะใครๆ ก็หันกลับมามองว่า ทองคำจะเป็นสินทรัพย์หลบภัย

⁃   ราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ช่วงไหนน้ำมันแพงมากๆ อัตราเงินเฟ้อก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น หากกระทบต่อต้นทุนกิจการ กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค เศรษฐกิจเริ่มตึงตัว เมื่อนั้นราคาทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงไหนราคาน้ำมันถูก เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำก็มักถูกลงตาม

⁃   สกุลเงินดอลลาร์

เมื่อสกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทองคำก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น เพราะคนจะมองว่าทองคำดูจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะกับการสะสมมูลค่ามากกว่า ไม่ด้อยค่าลงอย่างสกุลเงินดอลลาร์ในขณะนั้นนั่นเอง หากค่าเงินดอลลาร์แข็งตัวขึ้น จะส่งผลราคาทองคำปรับตัวลง และนักลงทุนทองคำจะหันมาลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์แทน

⁃   ความต้องการทองคำ

ซึ่งมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ผลผลิตทองคำที่มาจากเหมืองทอง แรงขายจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และสุดท้ายปริมาณทองคำเก่าๆ ที่มีการหมุนเวียนอยู่ในระบบ

⁃   เหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้

เห็นได้ชัดจากการเกิดโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะตลาดหุ้นเป็นสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้นักลงทุนถอนเงินออกจากตลาด แล้วหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ทำให้ช่วงนั้นราคาทองคำพุ่งขึ้นทุบสถิติแล้วทุบสถิติอีก

ถัดมาก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุด ในระยะนี้สาเหตุที่ราคาทองคำปรับขึ้นมาจากปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐและยุโรป