สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงพื้นที่เมืองเซวาสโตโพล บนคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี การผนวกรวมคาบสมุทรไครเมียกลับคืนเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2557


ทั้งนี้ นายมิคาอิล ราโซซาเยฟ ผู้ว่าการภูมิภาคไครเมีย ให้การต้อนรับปูติน ขณะที่ ผู้นำรัสเซียลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรียนศิลปะสำหรับเด็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำเมืองเซวาสโตโพล ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า “แม้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย” ที่ปูตินเยี่ยมชมสถานที่เหล่านี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องนี้น่าจะสื่อนัยถึงการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ( ไอซีซี ) ออกหมายจับผู้นำรัสเซีย ฐานเป็นอาชญากรสงคราม ในข้อหา “ลักพาตัวเด็กในยูเครน” และ “ความล้มเหลวในการใช้อำนาจจัดการกับพลเรือนและทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”

นายมิคาอิล ราโซซาเยฟ ผู้ว่าการภูมิภาคไครเมีย นำประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เยี่ยมชมโรงเรียนศิลปะสำหรับเด็ก ในเมืองเซวาสโตโพล

ขณะเดียวกัน หมายจับดังกล่าวยังครอบคลุม นางมาเรีย อเล็กเซเยฟนา ลโววา-บีโลวา กรรมาธิการด้านสิทธิเด็กประจำทำเนียบเครมลินด้วย


ด้าน รัสเซียยืนยันว่า การดำเนินการของไอซีซี “ไม่มีความหมายในทางใดทั้งสิ้น” เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็น 1 ใน 123 ประเทศ ซึ่งร่วมเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ที่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในการก่อตั้งไอซีซี และวิจารณ์ การที่ไอซีซี “เพิกเฉย” ต่อการที่สหรัฐเข้าไปปฏิบัติการในอิรัก เพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2546


อนึ่ง ไอซีซีไม่มีอำนาจบังคับใช้หมายจับ หมายความว่า การจับกุมบุคคลตามหมายจับนั้น ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจ” ของรัฐบาลแต่ละประเทศซึ่งเป็นสมาชิกไอซีซี และ “มีความเป็นไปได้ต่ำมาก” ที่ปูตินจะถูกจับกุม


อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า คือการ “สร้างแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ” ด้วยหรือไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เตรียมเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค.นี้ โดยรัฐบาลปักกิ่ง ยืนยันว่า เป็นการเยือนเพื่อสร้างเสริม “มิตรภาพ ความร่วมมือ และสันติภาพ”.

เครดิตภาพ : REUTERS