ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ได้มีการติดตามภาระหนี้สาธารณะของประเทศ โดยเปรียบเทียบตลอด 8 ปี 10 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำการรัฐประหาร เข้ามาบริหารประเทศช่วงเดือน พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 20 มี.ค. 2566 พบว่า ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นถึง 5.16 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบปี 57 ที่มีภาระหนี้อยู่ที่ 5.53 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 10.69 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน และมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 45.91% เป็น 61.62% 

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการกู้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ดูแลสถานการณ์โควิดระบาด รวมถึงการกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ทางหลวง รถไฟทางคู่ ตลอดจนการกู้เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี ซึ่งโครงการไฮไลต์ของรัฐบาล ที่มีการใช้เงินจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร

สำหรับองค์ประกอบของหนี้สาธารณะของไทย ล่าสุด ณ วันที่ 20 มี.ค. 66 จากเว็บไซต์ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีดังนี้

1. รัฐบาลกู้โดยตรง                                              8,680,218.43 ล้านบาท       สัดส่วน 81.18%    คิดเป็น 49.73 ต่อจีดีพี

2. รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของ FIDF    703,953.50 ล้านบาท           สัดส่วน 6.58%      คิดเป็น 4.03% ต่อจีดีพี

3. รัฐวิสาหกิจ                                                      1,045,872.61 ล้านบาท       สัดส่วน 9.78%      คิดเป็น  5.99% ต่อจีดีพี

4. รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ (รัฐบาลค้ำประกัน) 226,573.85 ล้านบาท สัดส่วน 2.12% คิดเป็น 1.30% ต่อจีดีพี

5. หน่วยงานของรัฐ                                              36,264.65 ล้านบาท             สัดส่วน 0.34%     คิดเป็น 0.21% ต่อจีดีพี

6. หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ                                 0.00 ล้านบาท                       สัดส่วน 0.00%     คิดเป็น  0.00% ต่อจีดีพี