เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทางศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งว่า ท่อบรรจุสารนิเคลียร์ ซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ที่ตั้งอยู่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งภายหลังพบว่าถูกหลอมไปแล้ว ในโรงงานปราจีนบุรี ส่งต่อรีไซเคิลระยอง ซึ่งสารดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

สำหรับ “ซีเซียม-137” ที่หายไปนั้น เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม

แล้ว “ซีเซียม-137” คืออะไร?
ซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีลักษณะโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบตา และแกมมา ใช้ในโรงงาน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์รักษามะเร็ง

อันตรายจากการสัมผัส
สำหรับอันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสีนั้น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ได้รับอันตรายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี ชนิดของรังสีที่ได้รับ

ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส
– ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดปากให้สนิท เพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
– ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
– ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย

อาการที่ต้องเฝ้าระวัง
1. ไข้
2. คลื่นไส้ อาเจียน
3. เบื่ออาหาร
4. ถ่ายเหลว
5. ผิวหนังที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง
ในกรณีสัมผัสปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้

อาการที่ควรพบแพทย์
1. คลื่นไส้อาเจียน
2. ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง
3. มีไข้ หนาวสั่น
4. ชักเกร็ง
5. มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังโดนรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
หากสงสัยมีอาการดังกล่าว ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี โทร. 0-3721-1626 ต่อ 102 และเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมทั้งแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137

สำหรับการป้องกันและปฏิบัติตน
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสี หรือกล่องเหล็กต้องสงสัย
2. ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตภาพรังสียังหน่วยงานที่กำหนด
3. รวบรวมสิ่งของเสื้อผ้าที่คาดว่าปนเปื้อนให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ
4. ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม
5. ติดตามข้อมูลสถานการณ์และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี, @กรมควบคุมโรค