ช่วงนี้ เห็นบิลค่าไฟแล้วแทบช็อก! กับราคาค่าไฟที่พุ่งกระฉูด ควบคู่กับอากาศในประเทศไทย ที่หลายคนรู้สึกว่า องศาร้อนแรงกว่าทุกปี ทำให้หลายคนเริ่มมองหาวิธีการที่ทำให้ค่าไฟถูกลง หนึ่งในวิธีที่เริ่มมองหา คือ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านผลิตไฟใช้เอง จาก 3-4 ปีที่ผ่านมายังไม่ฮิตมาก เพราะด้วยราคาค่าติดตั้งที่แพงมาก ขั้นต่ำต้องเตรียมเงิน 3-5 แสนบาท รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ยังไม่ทันสมัย

แต่ปัจจุบันนี้เริ่มต้นแค่มีเงินไม่ถึงแสนบาท ก็สามารถติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านได้แล้ว ประกอบกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่หันมาสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งผลิตไฟพลังงานสะอาดใช้ ทำให้ราคาอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มถูกลง เทคโนโลยีอุปกรณ์ต่างๆ ก็มีความทันสมัย ดูแล้วปลอดภัยมากขึ้น  ทำให้หลายบ้านเริ่มมีความสนใจ แต่ก็ยังลังเลตัดสินใจ จะติดดี หรือไม่ติดดี ยังมีคำถามคาใจ คุ้มกับเงินลงทุนหรือไม่ แล้วหลังคาบ้านตัวเองติดได้หรือเปล่า? 

เราหาคำตอบมาให้แล้ว กับสิ่งที่หลายคนอยากรู้? เริ่มต้นจากการสอบถาม กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กระทรวงพลังงาน แนะนำว่า ประชาชนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา ขอให้เลือกติดตั้งกับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ให้ตรวจสอบผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ตรวจสอบการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้มาตรฐานหรือไม่ เช่น สายไฟ ตัวอินเวอร์เตอร์ หรือตัวแปลงกระแสไฟฟ้ายี่ห้อน่าเชื่อ ไม่อยากให้ดูแค่ราคาถูกเป็นหลักเท่านั้น เพราะการติดตั้งไม่ได้ซื้อแค่แผงโซลาร์ แต่จะมีอุปกรณ์ต่างๆ พ่วงมาอีกด้วย ซึ่งบริษัทติดตั้งที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่ จะมีบริการรับตรวจสอบความพร้อมของหลังคา สายไฟต่างๆ ก่อนเข้าไปติดตั้ง

ส่วนราคาค่าติดตั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดความต้องการใช้ เริ่มต้นตั้งแต่ 70,000-5 แสนบาท เป็นระบบออนกริด หรือระบบโซลาร์เซลล์แบบต่อตรงกับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า เช่น

บ้านขนาดเล็กใช้แอร์ 1 ตัว ส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ 1.5 กิโลวัตต์ ราคาติดตั้งประมาณ 70,000-1 แสนบาท

บ้านขนาดกลาง ใช้แอร์ 2-3 ตัว ส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ 3-5 กิโลวัตต์ ราคาติดตั้งประมาณ 1.5-2 แสนบาท

บ้านขนาดใหญ่ ใช้แอร์ 4-5 ตัว ส่วนใหญ่ใช้แผงโซลาร์ 7-10 กิโลวัตต์ ราคาติดตั้งประมาณ 3-5 แสนบาท

แต่ถ้าเป็นระบบไฮบริด หรือการติดตั้งทั้งต่อสายตรงกับการไฟฟ้า และระบบแบตเตอรี่ เผื่อไว้ใช้ไฟตอนกลางคืน จะต้องลงทุนเสียค่าใช้จ่ายซื้อแบตเตอรี่มากักเก็บพลังงาน เพิ่มมากกว่า 1 แสนบาทขึ้นไป

ด้านคำแนะนำของ “เอสซีจี” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการติดตั้งหลังคาโซลาร์ ตามมาตรฐานสากล ระบุว่า ก่อนอื่นเลย เจ้าของบ้าน ต้องดูพฤติกรรมการใช้ไฟ ควรมีการใช้ไฟกลางวัน เปิดแอร์อย่างน้อย 1 ตัว และค่าไฟต่อเดือนควรจะเกิน 3,000 บาทต่อเดือนถึงจะคุ้มค่า 

ความพร้อมหลังคาที่จะติดตั้ง ต้องเป็นบริเวณไม่มีเงาบัง จากต้นไม้หรือตึก ความชันของหลังคา ไม่ควรเกิน 35 องศา เพราะจะเกิดเงาบัง และกระทบต่อการผลิตไฟของระบบโซลาร์

ประเภทหลังคา อาคาร สามารถติดตั้งได้ทุกรูปแบบทั้ง บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ ตึก (ดาดฟ้า) สามารถติดตั้งได้เกือบทุกประเภทหลังคา ทั้งหลังคา คอนกรีต เซรามิก เมทัลชีท แต่หลังคาบางประเภทต้องมีการสำรวจหน้างานอย่างละเอียดก่อนการติดตั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องการรั่วซึมหากมีการเจาะหลังคา เช่น หลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ หลังคาซิงเกิ้ลรูฟ หรือหลังคาบางประเภทที่ต้องมีการเพิ่มเติมก่อนการติดตั้ง เช่น หลังคาลอนคู่  

ส่วนระบบโซลาร์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมเรื่องหลังคาก่อนการติดตั้งเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้หลังคาอยู่คู่กับระบบโซลาร์ไปตลอดอายุการใช้งาน

ราคาติดตั้ง?

เริ่มตั้งแต่ 1.5 แสน-6 แสนบาท แล้วแต่ความต้องการผลิตไฟฟ้า ขนาดหลังคา จำนวนแผงที่ต้องใช้ 

หลังจากติดตั้งแล้ว มีค่าใช้จ่ายในการดูแลอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับแพ็กเกจที่เลือก ให้บริการตรวจสอบระบบ และล้างทำความสะอาดแผงโซลาร์ เช่น ล้างทำความสะอาดแผงโซลาร์ ให้ฟรี 3 ปี ปีละ 1 ครั้ง  

ตัวอย่างราคาค่าติดตั้งของ เอสซีจี รุ่นพรีเมียม แพ็กเกจ ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม

จุดคุ้มทุน?

ระยะเวลาการคืนทุนของการติดตั้งประเภทบ้านพักอาศัย ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของระบบ และพฤติกรรมการใช้ไฟ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 7-10 ปี แต่ถ้าบ้านไหนใช้ไฟในช่วงเวลากลางวันมากกว่าเดิมเยอะ ก็อาจจะคืนทุนได้เร็วขึ้น  

ระบบใช้งานได้กี่ปี และรับประกันกี่ปี?

ส่วนใหญ่แผงโซลาร์ ใช้งานได้มากกว่า 25 ปี โดยปีที่ 25 ประสิทธิภาพของแผงยังคงทำงานได้ไม่ต่ำกว่า 82.6% และขึ้นอยู่กับการดูแลแผงโซลาร์ด้วย หลังจากการติดตั้ง มีบริการ Maintenance ในการตรวจสอบระบบและล้างทำความสะอาดแผงโซลาร์ ให้ฟรี 3 ปี ปีละ 1 ครั้ง สำหรับรุ่น Premium และ 1 ปี สำหรับรุ่น Smart หลังจากระยะเวลาดังกล่าวลูกค้าสามารถซื้อแพคเกจเพิ่มเติม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดระบบ

ส่วนระยะเวลาการติดตั้ง และขออนุญาตนานเท่าไร?

ส่วนใหญ่ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบ ใช้เวลาการขออนุญาตทั้งกระบวนการประมาณ 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้า (นครหลวง หรือส่วนภูมิภาค) ที่ทำการเขต และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)