รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า ขณะนี้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 4 สะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9) โครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ก่อสร้างงานโยธาเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100% เหลือเพียงเก็บรายละเอียดงานอีกเล็กน้อย ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางบริษัท ช.การช่าง ได้ดำเนินการทดสอบระบบต่างๆ ด้วย รวมถึงระบบไฟสะพาน ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ และต้องปรับในส่วนใดเพิ่มเติม โดยจะทดสอบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะส่งมอบงานให้กับ กทพ. ทั้งนี้การทดสอบระบบไฟดังกล่าว ไม่ได้ทดสอบทุกวัน จะทดสอบเป็นบางวันเท่านั้น

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การประดับไฟสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ดำเนินการเช่นเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งอื่นๆ โดยได้ตกแต่งไฟประดับสะพานด้วยระบบไฟ LED เพิ่มสีสันให้สะพาน ซึ่งจะเปิดไฟประดับในช่วงเทศกาล และวันสำคัญต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมชมทัศนียภาพความงดงามของบรรยากาศสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ไฟที่ใช้ประดับสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 นั้น มีหลากหลายสี สามารถเปลี่ยนสีให้เข้ากับบรรยากาศของเทศกาล และวันสำคัญต่างๆ ได้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนข้อกังวลของผู้ที่อยู่อาศัยคอนโดฯ ใกล้เคียงสะพาน ที่หวั่นว่าจะได้รับผลกระทบจากแสงแยงตานั้น กทพ. ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ระบบไฟดังกล่าว สามารถปรับระดับความสว่างของแสงได้ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองระบบไฟ เพื่อให้ได้ระดับความสว่างของแสงไฟที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากแสงแยงตาน้อยที่สุด สำหรับค่าใช้จ่ายค่าไฟในการเปิดไฟสะพานนั้น ในระหว่างการทดสอบ ทางผู้รับจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เมื่อส่งมอบให้กับ กทพ. แล้ว หากเปิดใช้งานทาง กทพ. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าไฟดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการขอพระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อเทิดพระเกียรติพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ กทพ. ตลอดจนเป็นความภูมิใจร่วมกันของประชาชนทุกคน โดยสะพานแห่งนี้ได้ออกแบบไว้อย่างเหมาะสมแล้ว สอดคล้องกับความสวยงามของสะพานพระราม 9 เมื่อสะพานแห่งนี้แล้วเสร็จ จะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ ช่วยระบายการจราจรที่ติดขัด ช่วยลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เดิม เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำได้อย่างสะดวกมากขึ้น รวมถึงจะช่วยทดแทนเมื่อสะพานพระราม 9 เดิม ที่เปิดใช้งานมามากว่า 35 ปี ต้องปิดซ่อมแซมด้วย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 จะเชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัช และทางด่วนเฉลิมมหานคร มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร (กม.) ซึ่ง กทพ. ได้ออกแบบสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 โดยคำนึงถึงปัญหาด้านการจราจรติดขัดสะสมในช่วงขึ้นสะพาน จึงได้ออกแบบให้สะพานมีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 เดิมที่เริ่มยกระดับจากพื้นดินขึ้นไป ขณะที่สะพานแห่งนี้ จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น ไม่เกิดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพาน.