ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านการเงินค่อนข้างมากหลังจากเกิดวิกฤติในช่วงโควิด ซึ่งทำให้รายได้ลดลง เงินเดือนลด ไม่พอรายจ่ายที่มากขึ้น และยิ่งช่วงนี้ค่าครองชีพสูง ของทุกอย่างก็แพงขึ้น แถมดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ยิ่งซ้ำเติมเงินในกระเป๋าให้ร่อยหรอลงไปทุกที

หนี้เสียรถยนต์ปูดหนัก

จากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า ในไตรมาสแรกปี 66 หนี้รถยนต์มีทั้งสิ้น 2.6 ล้านล้านบาท มีสัญญาที่ได้รับอนุมัติใหม่3.5 แสนบัญชี และในกลุ่มนี้มีถึง 53% ที่เป็นคนเจนวาย ซึ่ง67% ได้รับอนุมัติวงเงินช่วง 5 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท โดยข้อมูลพบ
กลุ่มสีแดง หรือมียอดหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสียอยู่ถึง 7% แถมยังมีกลุ่มสีเหลืองที่กำลังเร่งตัวขึ้น อย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 64 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการค้างชำระตั้งแต่ 1 งวด 2 งวดและ 3 งวด ไม่เกิน 3 งวดทำให้ยังไม่เป็นหนี้เสีย

ในกลุ่มที่ค้างชำระจนถึง 3 งวด นั่นแสดงให้เห็นว่าการเงินมีปัญหาอย่างแน่นอน และถ้าไม่จ่ายในงวดถัดไป จนทำให้เป็นหนี้เสียในทันที แต่ส่วนใหญ่แวดวงธุรกิจไฟแนนซ์รถยนต์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พอลูกหนี้ค้างสัก 2 งวด จะกลับมาจ่ายในงวดที่ 3 เพื่อป้องกันการถูกยึดรถ หรือจะเรียกว่า “เลี้ยงงวด” ซึ่งตรงนี้เครดิตบูโรมีข้อมูลว่า กลุ่มเลี้ยงงวดมีมากถึง 1.9 แสนล้านบาท หากพลาดค้างชำระจนเกิน 90 วันจะตกชั้นเอ็นพีแอลเป็นหนี้เสียทันที

หากแยกเป็นตามช่วงอายุ เครดิตบูโร ยังฉายภาพให้เห็นว่า กลุ่มคนเจนวายมีหนี้เสีย 3.5 แสนบัญชี และกลุ่มคนเจนเอ็กซ์ มีหนี้เสีย 2 แสนบัญชี ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ กลุ่มเจนวายที่มีปัญหาและกำลังมีความเสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับหนี้เสียจะอยู่ที่ 6 แสนบัญชี และคนเจนเอ็กซ์มีปัญหา รวมกับหนี้เสียรวมมี 4 แสนบัญชี ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มที่มีปัญหาใกล้เป็นหนี้เสีย กับที่เป็นหนี้เสียแล้ว ความเสี่ยงที่กลุ่มเหล่านี้อาจเสี่ยงถูกโดนยึดรถในอนาคตมีมากถึง 1 ล้านคันเลยทีเดียว

เป็นห่วงเรื่องเลี้ยงงวด

ความเสี่ยงและปัญหาของหนี้รถยนต์ถึงกับ “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ถึงกับต้องโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเป็นห่วงว่า หนี้รถยนต์ที่เป็นกลุ่มเลี้ยงงวดจะกลายเป็นหนี้เสีย และรถจะถูกยึดมาก ทำให้ไม่แปลกที่สถาบันการเงินจะเข้มงวดในการปล่อยกู้รถยนต์ให้ยากขึ้น มีการปฏิเสธสินเชื่อกันเยอะมากกว่าเดิม จนกระทบกับคนขายรถยนต์ เพราะในเมืองไทยกู้ซื้อรถมากกว่าจะซื้อเป็นเงินสด

นอกจากนี้ยังบอกอนาคตว่า ในเร็ววันนี้ไทยคงได้เห็นหนี้เสียจากรถยนต์ที่รักโลก รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างแน่นอนหรืออีกนัยคือ รถยนต์ไฟฟ้าเพราะจองกันเยอะ และได้ฝากเตือนให้ช่วยวางแผนผ่อนจ่ายให้ดี อย่าคิดนำเอาส่วนที่ประหยัดจากค่าน้ำมันมาจ่ายค่างวดเท่านั้น เพราะจะเป็นปัญหาตามมาได้

เผยถูกยึดรถเพียบ

เมื่อมีหนี้เสียและถูกยึดรถไป อีกหนึ่งธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในตลาดรถมือสองคือ ธุรกิจลานประมูล เพราะเมื่อยึดรถมาแล้วก็ต้องนำมาขายทอดตลาด มีข้อมูลน่าสนใจจาก “แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด” ว่ามีการยึดรถเข้ามาลานประมูลแล้วถึง 9 หมื่นคัน และคาดว่าปี 66 ตลอดปีจะมีรถที่ถูกยึดเข้ามาในลานประมูลสูงมากถึง 2.5 แสนคัน มากกว่าปกติที่อยู่ประมาณ 1.8 แสนคัน

แต่ทางที่ดีอย่าปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถของเราไปจะดีกว่า พยายามหาทางออกโดยการเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ไฟแนนซ์รถยนต์ของเราจะเป็นทางที่ดีที่สุด ซึ่งเขาอาจจะหาวิธีปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาผ่อนจ่ายให้นานขึ้น และทำให้ค่างวดรถของเราถูกลง หรืออาจหาทางออกอื่น ๆ เพื่อให้เรากลับมาจ่ายหนี้ได้เหมือนเดิม จะได้ไม่ถูกยึดรถไป ซึ่งระยะเวลาที่เราจะโดนยึดรถนั้น ส่วนใหญ่จะค้างจ่าย 3 เดือน เกินกว่านั้นพอเป็นหนี้เสีย ก็จะโดนยึดรถทันที

ชี้เป็นหนี้หลายทาง     

ส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาหนี้เสีย คือการผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านการเงินสะดุด รายได้ขาดหาย เงินเดือนลด มีเงินไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หมุนเงินไม่ทัน ยิ่งช่วงนี้ภาระค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นมาก จากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้า อาหารแพงขึ้น และดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงยังเป็นปัจจัยกดดันให้คนมีหนี้มีภาระต้องจ่ายหลายทาง เพราะคนไทยก่อหนี้สูง มีหนี้หลายทาง จนกระทบกับความสามารถชำระหนี้ และเป็นปัญหาให้หนี้ครัวเรือนที่กำลังก่อตัวเร่งขึ้น

หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ 86.9% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับความยั่งยืนของหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้คาดหวังไว้ว่าไม่อยากให้เกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งในเร็ว ๆ นี้จะมีมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือนออกมา และมีแนวทางกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่งรถยนต์ เพื่อคุมไฟแนนซ์รถที่เป็นนอนแบงก์ จากปัจจุบันยังไม่เคยดูแลอยู่เลย ทำให้ในเรื่องการบริการลูกค้า การปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ อาจทำให้คนกู้ถูกเอาเปรียบไม่เป็นธรรมได้

ความคืบหน้าล่าสุดที่จะจัดการปัญหาแก้หนี้ครัวเรือนของทาง ธปท.ในปีนี้ ดูเหมือนจะมีแนวทางมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างเฉพาะจุด ไม่แก้ไขแบบเหวี่ยงแห เหมือนกับที่ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. ได้เคยบอกเอาไว้ โดยเป็นเรื่องต้องติดตามการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะหนี้โดยเฉพาะรายย่อยทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์ล้วนเป็นหนี้ที่คนไทยขอกู้มากขึ้นทุก ๆ ปี

ไฟแนนซ์เข้มปล่อยกู้

      ในเรื่องหนี้สูงและหนี้เสียในกลุ่มรถยนต์นี้เอง ทำให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ หรือไฟแนนซ์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และต้องประเมินความเสี่ยงของผู้กู้แต่ละรายในเรื่องความสามารถชำระหนี้ให้มาก ๆ เพราะความเข้มงวดปล่อยกู้รถยนต์จะทำให้คุณภาพสินเชื่อที่ปล่อยออกไปมีคุณภาพดี ไม่มีความเสี่ยงกลายเป็น
หนี้เสีย ไม่ใช่เฉพาะเครดิตบูโรที่แสดงความเป็นห่วงของหนี้รถยนต์ แต่คนปล่อยกู้อย่างสถาบันการเงิน ด้านไฟแนนซ์ก็เป็นห่วงเช่นเดียวกัน จึงต้องมีแนวทางบริหารจัดการหนี้อย่างเข้มงวด ละเอียดรอบคอบมากกว่าเดิม

แม้การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินกู้หลายคนอาจมีคำถามว่า เป็นการเพิ่มภาระซ้ำเติมในช่วงที่อะไร ๆ ก็แพง และกระทบกับการชำระหนี้หรือไม่ แต่ทางแบงก์ชาติเองได้ออกมาให้ความเห็นว่า ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หนี้เสียรถยนต์สูงขึ้น แต่มีหลายองค์ประกอบ เช่น การประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เรื่องความสามารถชำระหนี้ และยังมีเรื่องการแข่งขันของธุรกิจที่สูงทำให้การประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ลดต่ำลงบ้าง จะนำดอกเบี้ยมาเทียบแบบหนึ่งต่อหนึ่งคงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนี้รถยนต์และหนี้ครัวเรือนสูงในไทย คงยังต้องติดตามกันแบบยาว ๆ เพราะการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ไม่อาจจบได้ในเร็ววัน แม้แบงก์ชาติจะมีมาตรการเข้ามาแก้หนี้เพิ่มเติม แต่ก็ต้องรอดูนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
จากรัฐบาลชุดใหม่ เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนกี่ยุคกี่สมัยเข้ามาบริหารประเทศ หนึ่งในนโยบายสำคัญก็คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทย

เทียบหนึ่งต่อหนึ่งไม่ได้

สุรัช แทนบุญผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองประเด็นคำถามดอกเบี้ยสูงแล้วทำให้กระทบกับการผ่อนหนี้หรือไม่นั้น ธปท.ไม่ได้มองว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยเป็นหลักโดย ธปท.มองว่าดอกเบี้ยเป็นแค่หนึ่งในตัวที่กำหนดขยายตัวของสินเชื่อและเป็นหนึ่งที่กำหนดคุณภาพสินเชื่อเช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแข่งขันสูงทำให้ต้องประเมินความสามารถชำระหนี้ลูกค้าเพราะในช่วงแข่งขันมากอาจมีข้อจำกัดบางอย่างแต่ไม่สามารถนำมาเทียบหนึ่งต่อหนึ่งกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้

“แม้ดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย(เอ็มอาร์อาร์)ปรับเพิ่มขึ้นแต่มีสินเชื่อเดิมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นเพราะกลุ่มนี้ดอกเบี้ยยังต่ำอยู่แต่สินเชื่อปล่อยใหม่มีดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นบ้างเช่น บางสัญญาอย่างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และหากจ่ายค่างวดสินเชื่อบ้านด้วยก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น ส่วนเรื่องความเสี่ยงคุณภาพหนี้ผู้กู้แล้วทำให้สินเชื่อชะลอนั้นมองว่าที่ผ่านมาเอกชนมีการระดมทุนผ่านออกตราสารหนี้มากออกหุ้นกู้มากขึ้นและที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งโอนพอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตสินเชื่อบุคคลไปบริษัทลูกทำให้การขยายตัวสินเชื่อชะลอลงบ้างและยังมีเรื่องการคืนซอฟต์โลนซึ่งทั้งหมดมีทั้งเรื่องปริมาณการปล่อยสินเชื่อและคุณภาพปล่อยสินเชื่อที่นอกเหนือจากดอกเบี้ยด้วย”

ลูกหนี้มีปัญหาเข้ามาคุย

วิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์” กรรมการผู้จัดการบริษัทซีไอเอ็มบีไทย ออโต้ จำกัด ระบุมีความเป็นห่วงเช่นเดียวกับเครดิตบูโร โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระ 30-90 วัน ที่ใกล้จะมีความเสี่ยงเป็นหนี้เสียในเร็ววันนี้ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้วิธีเลี้ยงงวดคือ ค้างชำระ 2 งวดและในงวดที่ 3 มาจ่าย 1 งวด เพื่อเลี้ยงไว้ไม่ให้เกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน เพราะจะกลายเป็นหนี้เสียในทันทีและจะถูกยึดรถในที่สุด ในส่วนของซีไอเอ็มบีไทยออโต้ ได้เพิ่มความระมัดระวังและที่ผ่านมาได้บริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้รถยนต์ได้ดีอยู่แล้ว โดยต้องระวังกลุ่มเลี้ยงวดมากที่สุด เพราะถ้าหากกลุ่มนี้ไม่มีเงินพลาดจ่ายค่างวดเกิน 90 วัน จะต้องตกชั้นกลายเป็นหนี้เสียทันทีแม้ที่ผ่านมาตัวเลขเอ็นพีแอลของซีไอเอ็มบีไทยออโต้จะเพิ่มขึ้นบ้างตามสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ยืนยันไม่น่ากังวลและเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้

“อยากให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาผ่อนจ่ายต่อไปไม่ไหวเข้ามาเจรจาพูดคุยเพราะทุกๆแห่งทุกสถาบันการเงินมีแนวทางและวิธีช่วยเหลือลูกค้าไว้อยู่แล้วเพื่อหาทางออกให้กลับมาผ่อนจ่ายได้ไหวซึ่งเข้าใจบางคนอาจมีปัญหาด้านการเงิน เงินเดือนลด สะดุดในเดือนนี้ ส่วนวิธีช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยการนำเงินต้นคงเหลือมาคำนวณใหม่อาจขยายเวลาการผ่อนออกไปและทำให้ค่างวดจ่ายลดลงกว่าเดิมซึ่งจะเป็นวิธีที่ให้ลูกหนี้กลับมาจ่ายค่างวดได้และจ่ายลดลงกว่าเดิม”

ประเมินจ่ายหนี้ตัวเอง

โชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์” ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารสภาผู้บริโภคกล่าวว่า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำอันดับแรกเมื่อมีปัญหาหนี้คือประเมินการจ่ายหนี้ของตัวเองแบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีแรกมั่นใจว่าในอนาคตเราสามารถผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไหวแน่นอน โดยไม่ต้องค้างชำระค่างวดเพราะประเมินแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะหนี้มีปัญหาในปัจจุบันเกิดขึ้นเพียงเพียงชั่วคราวหรือระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หรือกรณีที่สองผู้บริโภคประเมินแล้วว่าผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไม่ไหว

กรณีแรกมั่นใจว่าในอนาคตผ่อนค่างวดรถยนต์ต่อไหวแน่นอนแนะนำให้แจ้งความต้องการ “ปรับโครงสร้างหนี้” หรือ “รีไฟแนนซ์” กับสถาบันการเงิน ข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้คือช่วยยืดระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น จำนวนเงินค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนลดลงแต่มีข้อเสียคืออาจต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาการผ่อนที่มากขึ้น อีกทั้งหากผิดนัดชำระหนี้ก็อาจถูกยึดรถและต้องเสียปรับเพิ่มมากขึ้น กรณีที่สองคือ ประเมินว่าผ่อนต่อไม่ไหวแนะนำให้นำรถไปคืนไฟแนนซ์ตอนส่งมอบให้ถ่ายรูปรถยนต์และประเมินสภาพรถไว้รวมทั้งต้องมีหลักฐานการคืนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยข้อดีของการนำรถยนต์ไปคืนคือ ผู้บริโภคเอารถไปคืนโดยไม่ผิดสัญญา (ไม่ได้ค้างชำระหนี้เกิน 3 งวดติดต่อกัน) ไฟแนนซ์จะเรียกค่าส่วนต่างไม่ได้เป็นต้น.

ทีมเศรษฐกิจ