นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่16 ในหัวข้อเสวนา ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน มีความพิเศษและแตกต่างจากความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศอื่นๆ ทั้งด้านการทูต ด้านธุรกิจที่ค้าขายกันมายาวนาน ด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย และความสัมพันธ์เครือญาติตั้งแต่ระดับราชวงศ์ การใช้นามสกุลของคนไทยเชื้อสายจีนได้รับอิทธิพลจากแซ่ต่างๆ ของจีน 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปีซ้อน ไทยส่งออกสินค้าไปจีน 1.19 ล้านล้านบาทและนำเข้าจากจีนถึง 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท แต่เป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์ และเทคโนโลยี สำหรับการต่อยอดการค้าของประเทศไทยได้ อีกทั้งในด้านการท่องเที่ยวจีนก็มาท่องเที่ยวไทยมาเป็นอันดับ1 ในช่วงก่อนโควิด

สำหรับแนวทางการดึงดูดและการรองรับนักลงทุนจีนนั้น ประเทศไทยพร้อมปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน โดยการจัดตั้งแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การก่อตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างธุรกิจ ในระดับภาคเอกชนของ 2 ประเทศ 

และจะขยายความร่วมมือด้านการลงทุนของจีน ในอีอีซีของไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนภายใต้กรอบความร่วมมือ RCEP ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน การยกระดับความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขงและการเร่งผลักดันโครงการรถไฟไทย – ลาว – จีน เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิด 

นอกจากนี้จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย – จีน ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทย-จีน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะ 2 ประเทศ 2 นิคม เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงวัตถุดิบซึ่งกันและกัน พร้อมกับยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งการส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทย-จีน ดำเนินการฝึกอบรมร่วมกันให้มากขึ้น และยกระดับการบริการข้อมูลการลงทุน ทั้งการจัดตั้ง One Stop Service ด้านการลงทุนแบบครบวงจร รวมถึงผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ (BOI) ของไทยในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน ให้มากขึ้น

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่ดีที่สุดของจีนโดยจุดแข็งและโอกาสทั้งด้านที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางอาเซียน โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด อาทิ อีอีซี สนามบินอท่าเรือ และซัพพลายเชนที่พร้อม มีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีพลังงานเพียงพอสำหรับรองรับการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก และไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง ไม่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันส่งผลให้บริษัทจีนที่มาลงทุนในไทย 99% ประสบความสำเร็จ

“วันนี้จีนจึงเป็นอันดับ1 ในไทยหลายด้านทั้งด้านการท่องเที่ยวที่เป็นอันดับ1 และด้านการค้าที่จีนมีสัดส่วนมากถึง 18% รวมไปถึงการลงทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่มีธุรกิจจีนมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก โดยเข้ามาลงทุนทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ กระเป๋าเดินทาง ปิโตรเคมี เป็นต้น”

สำหรับโอกาสใหม่ๆของการลงทุนในประเทศไทย ทางBOI ได้มี 9 มาตรการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โปรแกรมการเก็บรักษาและการขยาย โปรแกรมการย้ายถิ่นฐาน มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ยกระดับอุตสาหกรรมอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ส่งเสริมการลงทุนสำหรับเอสเอ็มอี เป็นต้น

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมดีและมีความเข้มแข็งต่อเนื่อง เพราะมีการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวและคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทย 5 ล้านคน และคาดว่าปีหน้าจะมากขึ้น แต่เรื่องที่น่าห่วงคือปัญหาหนี้ครัวเรือนในไทยที่สูงถึง 8.6% ของจีดีพี และค่าจ้างแรงงานที่หากปรับขึ้นเร็วจะสร้างแรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อ ส่วนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือตลาดต่างประเทศและรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมากจะมีผลต่องบประมาณและการขาดดุลการคลัง

นายหลี เสี่ยวปอ นายกสมาคมวิสาหกิจการค้าจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารICBC กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสมากในการลงทุน โดยปัจจุบันจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากถึง 2,200 ล้านดอลาร์สหรัฐ โดยมีการลงทุนทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ ยางล้อ โซล่าเซลล์ 5จี อีคอมเมิร์ซ เนื่องจากมองว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและมีนิคมอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ เห็นได้จากนิคมอุตสาหกรรมที่ระยองมีธุรกิจจีนมากถึง 200 บริษัท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจไทยกำลังต้องปรับตัวมุ่งสู่อนาคตใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย อาทิ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและชีวเคมีศูนย์การแพทย์ เศรษฐกิจดิจิทัล ผู้คนและการศึกษา 2.ด้านBCG ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว และ3.ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั่วโลกกำลังให้การตื่นตัวอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสในการทำงานร่วมกับนักธุรกิจจีน