พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ กำลังเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถประมวลผลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว กว่าระบบคอมพิวเตอร์ แบบเดิมหลายเท่า แต่เทคโนโลยีย่อมเป็นดาบสองคม เพราะมีความเสี่ยงที่แฮกเกอร์จะนำไปใช้ในทางผิด เนื่องด้วยด้วยความสามารถของ ควอนตัม คอมพิวติ้ง จะทำให้สามารถเจาะข้อมูลขององค์กรที่ใช้การเข้ารหัส เช่น การใช้ยูสเซอร์เนม พาสเวิร์ด ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่อาจใช้เวลาเป็น 1,000 ปีในระบบคอมพิวเตอร์แบบเดิม เหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
“องค์กรอย่าง คลาว์ด ซีเคียวริตี้ อไลอันซ์ หรือ ซีเอสเอ ได้ระบุว่า ในอีก 7 ปี ยุคของคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนผ่าน จากระบบดิจิทัลสู่ระบบ ควอนตัม คอมพิวติ้ง หรือยุค วายทูคิว (Y2Q) ลักษณะคล้ายยุค วายทูเค (Y2K) ในช่วงปี 2000 ที่มีการเปลี่ยนยุคของคอมพิวเตอร์ ซึ่งความสามารถของ ควอนตัม คอมพิวติ้ง แฮกเกอร์จะไม่เพียงขโมยข้อมูล ส่วนบุคคลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีพัฒนาการในการขโมยข้อมูลที่เป็นความลับมากขึ้น เช่น ประวัติการรักษาคนไข้ เอกสารเอ็มโอยูระหว่างประเทศ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการเก็บแบบไบโอแมตทริกซ์ เป็นต้น”
พล.อ.ต.อมร กล่าวต่อว่า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่มีความสำคัญในการเก็บข้อมูลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หน่วยงานรัฐ ที่เก็บเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง และโรงพยาบาล ที่เก็บข้อมูลคนไข้ เป็นต้น จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่รองรับการปกป้องภัยไซเบอร์จากการใช้ ควอนตัม คอมพิวติ้ง โดยมาตรฐานดังกล่าวจะมีการประกาศในปี 67
ด้าน นายจิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีองค์กรธุรกิจกันมาใช้ เทคโนโลยี ควอนตัม คอมพิวติ้ง แล้วทั้งในส่วนของภาคการเงินที่ใช้ประมวล ผลบริหารหนี้เสียธุรกิจขนส่ง ใช้วางแผนการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และลดต้นทุน รวมถึง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการใช้งานของผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ