สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเทศบาลนครเทียนจิน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ว่า นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวต่อที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีคอนอมิก ฟอรัม” (ดับเบิลยูอีเอฟ) สำหรับช่วงฤดูร้อน จัดที่นครเทียนจิน เมื่อวันอังคาร มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า โลกตะวันตกกำลังปลุกปั่นแนวคิดทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า “ลดการพึ่งพา” และ “การลดความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน”
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวถือเป็น “การใช้ตรรกะที่ผิดพลาด” เนื่องจากการพัฒนาความเป็นพหุภาคีทางเศรษฐกิจ เป็นกลไกที่ต้องอาศัยความผสมผสาน เศรษฐกิจของหลายประเทศกำลังผสมผสานเข้าด้วยกัน พัฒนาร่วมกัน และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน หลี่ยืนยันว่า จีนอยู่บนเส้นทางของการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต “ที่ระดับ 5.0%” ในปีนี้ แม้ยังคงยอมรับว่า “เป็นภารกิจที่ยาก”
Li Qiang, Premier of the People's Republic of China, at #amnc23.
— World Economic Forum (@wef) June 27, 2023
Watch the session here: https://t.co/w5ZEJPJSEE pic.twitter.com/t7EQJK3BO6
อนึ่ง นายกรัฐมนตรีจีนเยือนเยอรมนี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งมุ่งมั่นเสริมสร้าง “ความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น” กับเยอรมนี ไม่ใช่การลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า การมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง “สำคัญกว่า” เพื่อฝ่าฟันภาวะวิกฤติที่ดำเนินอยู่ พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของเยอรมนี ไม่ได้มองจีน “เป็นความเสี่ยง”
ด้านนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี ยืนยันว่า ไม่เคยต้องการให้มีการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจแบบ “แบ่งฝักแบ่งฝ่าย” อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เยอรมนีจำเป็นต้องมีคู่ค้า “ที่หลากหลายมากขึ้น” โดยขยายความว่า “ทั้งในเอเชียและนอกเหนือจากนั้น”
ท่าทีของทั้งสองฝ่ายบ่งชี้ว่า เยอรมนีไม่คิดตัดขาดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจากจีน “แต่ขอลดความเสี่ยง” เฉพาะในด้านที่มีการพึ่งพาจีน “ในระดับที่มากเกินไป” ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งมีความวิตกแฝงอยู่ว่า เยอรมนีซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ในบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จะขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐ.
เครดิตภาพ : AFP