เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันพืชกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 แล้ว และสามารถนำมาใช้ในวิถีชีวิตท้องถิ่น ทั้งการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและการขายใบสดที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่การนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ระบุสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องขออนุญาตกระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 ส่วนการนำไปประกอบอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายนั้น ยังมีตามผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.อาหาร 2522 เนื่องจากกฎหมายยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร 2522 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายหรือแม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้ หากการฝ่าฝืน ผลิต และขายอาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน – 2 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท

สายเขียวเฮ! สภาฯปลดล็อก’กระท่อม’จากบัญชียาเสพติด

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง เนื่องจากถือเป็นอุปสรรคการค้าขายแบบชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. คณะกรรมาธิการฯ ที่ตนเป็นประธานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว และได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้ว

“ในช่วงที่ยังไม่มีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข หากผู้ประกอบการต้องการพัฒนาต่อยอดเพื่อสกัดหรือแปรรูปพืชกระท่อมโดยใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในใบกระท่อมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาแผนโบราณ ที่มีสรรพคุณในการบำบัดหรือบรรเทาอาการต่าง ๆ นั้น สามารถขอคำแนะนำกองควบคุมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว