เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และมีบุคลากรที่ถ่ายโอนบางส่วนเรียกร้องขอย้ายกลับมากระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงฯ ได้รับทราบปัญหาข้อเรียกร้องของบุคลากรที่ถ่ายโอนไปต้องการขอโอนกลับประมาณ 400 กว่าคน และยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกรณีนี้ต้องเป็นการโอนกลับทั้งตัวบุคคลและตำแหน่ง เนื่องจากขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังขาดอัตรากำลังจำนวนมาก ประกอบกับบุคลากรที่ถ่ายโอนไปส่วนหนึ่งเป็นบุคลากรที่มีความชำนาญจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ที่ถูกตัดตำแหน่งไปโดยอาศัยเงื่อนไขคู่มือการถ่ายโอนฯ ทั้งนี้ จากการติดตามของคณะอนุกรรมการวิชาการและติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจฯ พบว่า บุคลากรสาธารณสุขที่ต้องการย้ายกลับมากระทรวงสาธารณสุข มีเหตุผลดังนี้

1.ไม่ได้ตำแหน่งตามที่คาดหวังไว้ในตอนแรก และความก้าวหน้าของวิชาชีพไม่มีความชัดเจน 2.ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า เช่น การพิจารณาความดีความชอบได้น้อยกว่าเดิมและมีความเลื่อมล้ำในการพิจารณามาก, ค่าตอบแทน ฉบับ 11 ไม่ได้หรือได้ไม่ตรงตามกำหนด 3.สวัสดิการรักษาพยาบาลเปลี่ยนเป็นสิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่เท่ากับสิทธิข้าราชการเดิม 4.ไม่มีองค์กรมารองรับสิทธิในการปฏิบัติงานด้านการรักษาพยาบาล ทำให้ไม่มั่นใจและส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการ 5.ขาดแคลนทรัพยากรในการให้บริการ เนื่องจาก อบจ. จัดหาให้ไม่ครบถ้วน เช่น วัคซีน ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการรับบริการ และ 6.ขาดการส่งเสริมบทบาทด้านการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ รพ.สต. เช่น การคัดกรองโรคมะเร็ง คัดกรองพัฒนาการเด็ก คัดกรองด้านสุขภาพจิต รวมถึงการพัฒนา care giver ที่ดูแลผู้สูงอายุ

กระทรวงสาธารณสุข พร้อมช่วยเหลือบุคลากรที่ขอโอนกลับ แต่ต้องดำเนินการบนความถูกต้องของระเบียบ ส่วนการถ่ายโอนรอบปีงบประมาณ 2567 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการประสานงานการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ให้ดำเนินการต่อ โดยยึดความพร้อมของหน่วยงานที่จะถ่ายโอนและข้อตกลงเดิมเดือนพ.ย. 2565 ที่ไม่ให้บุคลากรที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านปฐมภูมิถ่ายโอน โดย รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนต้องมีบุคลากรสมัครใจถ่ายโอนไปมากกว่าร้อยละ 70 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริการเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งมีการรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และมีคนกลาง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพพื้นที่ โดยจะหารืออีกครั้งในวันที่ 20 ก.ค. นี้.