ประเทศไทย ถือเป็นประเทศเกษตรกรรม กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยมีอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรไม่น้อยกว่าสามสิบล้านคน แต่กลับไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกษตรกรไทย ยังมีรายได้ไม่ค่อยสูง แต่ต้นทุนการผลิตกลับพุ่งสูง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดถึงผลก่ารศึกษา “10 ปี ชาวนาไทย : จนเพิ่ม หนี้ท่วม” พบว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยอยู่ในวังวนของการแทรกแซงตลาด ทั้งการรับจำนำ และการประกันรายได้เกษตรกร มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิต และการตลาดข้าวไทยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยยากจนที่สุดในเอเชีย และในอาเซียน เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงมาก แต่ศักยภาพการผลิตต่ำที่สุด ผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุด รายได้ต่ำที่สุด และเงินเหลือในกระเป๋าติดลบ และยังมีรายได้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

นอกจากนี้ได้สรุป 10 ปีข้าว จุดอับ: บทเรียนที่สิ้นหวังของข้าวไทย พบว่า

1. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ ไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) 

2. ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม”

3. ปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้

4. แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง

5. เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

6. นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง

7. ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง

8. ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม

9. เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ

10. การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย

ขณะเดียวกันยังได้เปรียบเทียบชาวนาไทย กับอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา

  • ในช่วง 10 ปี (ปี 2555 กับ 2565) พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้ และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย
  • ต้นทุนการผลิตของชาวนาไทย ในปี 2565 มีต้นทุนการผลิต 5,898.5 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 3,839.7 บาท/ไร่) ขณะที่รายได้ลดลง 777.7 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 3,900.3 บาท/ไร่ น้อยกว่าในปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ในปี 2555 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาท/ไร่ แต่ปี 2565 ชาวนามีเงินขาดทุน 1,998.2 บาท/ไร่
  • ในปี 2565 ชาวนาอินเดียมีต้นทุนการผลิต 6,993.7 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,581.8 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 4,411.9 บาท/ไร่) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นทุนเพิ่ม แต่ชาวนาอินเดียก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,817.4 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 11,115.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 9,298.2 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาอินเดียมีเงินคงเหลือ 4,886.3 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 4,121.9บาท/ไร่
  • ในปี 2565 ชาวนาเวียดนามมีต้นทุนการผลิต 5,098.1 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 1,027.3 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 4,070.8 บาท/ไร่) ซึ่งชาวนาเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 69.1 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 8,320.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 8,251.5 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาเวียดนามมีเงินคงเหลือ 4,180.7 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 3,222.5 บาท/ไร่
  • ในปี 2565 ชาวนาเมียนมามีต้นทุนการผลิต 4,574.2 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 1,420 บาท/ไร่ จากปี 2555 (ปี 2555 มีต้นทุนการผลิต 3,154.2 บาท/ไร่) ทั้งนี้ ชาวนาเมียนมามีรายได้เพิ่มขึ้น 1,421.3 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 5,953.1 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ที่มีรายได้ 4,532 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 2555 ชาวนาเมียนมามีเงินคงเหลือ 1,377.8 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 1,379.1 บาท/ไร่