ที่เห็นได้ชัดเริ่มแล้วในภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัท แอปเปิ้ล บริษัทเขาทำ สโคป 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากกิจกรรมขององค์กร เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง ) สโคป 2 (การปล่อยก๊าซฯ ทางอ้อมจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ซื้อขายภายนอก) ทำได้ตั้งแต่ปี 2020 แล้ว แต่เป้าของเขาคือ ทำยังไงให้สโคป 3 (การปล่อยก๊าซฯ ทางอ้อมอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น กลุ่มลูกค้า ) ร่วมทำความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ด้วย โดยตั้งเป้าตั้งแต่ปี 2030 แปลว่า เขาจะเริ่มกดดันผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจร่วมกัน เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จะต้องใช้พลังงานสะอาดในการผลิต 100% ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำธุรกิจกับแอปเปิ้ลได้ เรื่องเหล่านี้มันไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือแฟชั่นแล้ว กำลังเป็นเรื่องสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ จึงอยากให้ผู้ประกอบการทุกคนได้ตระหนักรู้ไว้” อธิป ตันติวรวงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ระบุถึงความสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคธุรกิจ
จึงทำให้ “อินโนพาวเวอร์” ประกาศตัวเป็น“พันธมิตรพิชิตคาร์บอน” ที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา วางกลยุทธ์ และบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนแบบครบวงจร สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนในองค์กร สอดรับกับโลกที่ตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกเดือดได้ ตั้งเป้าหมายพันธมิตร 100 รายภายในปี 2567 นี้ สำหรับ “พันธมิตร พิชิตคาร์บอน” อธิป ตันติวรวงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ทำมาประมาณ 6 เดือนกว่า ๆ แล้ว มีจุดประสงค์หลัก คือ อยากจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น สามารถแข่งขันได้ในเวทีต่างชาติ ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น คือเรื่องคาร์บอน ซึ่งตอนนี้ตลาดกำลังจะเปลี่ยนไปแบบนี้ ถ้าคุณไม่มีเป้าหมายในการบรรลุคาร์บอนที่ผู้ซื้อตั้งเป้าไว้ คุณอาจจะขายของไม่ได้ เรื่องที่ต้องปรับลดคาร์บอน เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว และแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
ล่าสุด “อินโนพาวเวอร์” ได้ขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างพันธมิตร นอกเหนือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. จัดโปรแกรมอบรมเพื่อสร้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในแต่ละรุ่นได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญและจำเป็นของธุรกิจที่ต้องมุ่งสู่เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยอินโนพาวเวอร์ ได้สร้างแพลตฟอร์ม GHG (Greenhouse Gas Report ) ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ทดลองใช้ฟรี เป็นระยะเวลา 4 เดือน เพื่อการสำรวจธุรกิจของตัวเองว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใด ช่วยให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ขององค์กรได้ และหากต้องการที่จะวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทางอินโนพาวเวอร์ พร้อมให้คำปรึกษาแบบครบวงจรเช่นกัน
มองว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มตระหนักรู้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น เห็นได้จากยอดเอสเอ็มอีเข้าร่วม “พันธมิตร พิชิตคาร์บอน” แล้วกว่า 80 ราย สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดช่วยลดคาร์บอนได้แล้ว 3,000 ตัน จากที่ปล่อยคาร์บอน 10,000 ตันต่อปี ใกล้ถึงเป้าหมายเดิมที่เราตั้งเป้าเอาไว้ 100 ราย ซึ่งครึ่งปี 67 อยากจะขยายเพิ่มเป็น 200 ราย ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานลดปล่อยคาร์บอนฯ ทะลุกว่า 2 ล้านตันได้ไม่ยาก ช่วยให้ธุรกิจลดค่าใช้จ่าย มีสีเขียวมากขึ้น และตอบโจทย์ความยั่งยืนได้อีกด้วย
“การใช้แพลตฟอร์มนี้ ก็เปรียบเหมือนการไปหาหมอ การที่หมอจะวินิจฉัยโรคได้ ก็ต้องขอเจาะเลือดตรวจดูสุขภาพก่อน เพื่อที่จะวางแนวทางการรักษาได้ สำหรับผู้ที่ต้องการจะปรับลดคาร์บอนในภาคธุรกิจ เราก็จะมีเครื่องที่จะช่วยตรวจให้รู้ว่าในกระบวนการทำธุรกิจนั้นมีการปล่อยคาร์บอนอยู่เท่าไหร่ แล้วจะลดได้อย่างไร ต้องใช้เทคโนโลยีแบบไหนเข้าไปช่วย ยกตัวอย่างเรามีสมาร์ท มอเตอร์ ที่ไปเพิ่มประสิทธิภาพให้ใช้ไฟน้อยลง ถ้าใช้ไฟน้อยลง การปล่อยคาร์บอนก็ควรจะต้องลดลง และชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่จะต้องปรับเปลี่ยนด้วยข้อมูล หรือดาต้า ในบางกรณีเราเป็นผู้ลงทุนให้ด้วยซ้ำ เรามีคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีแพสชัน ในเรื่องนี้ ซึ่งเราอยากให้ผู้ประกอบการนึกถึงการลดคาร์บอน อยากให้นึกถึงอินโนพาวเวอร์” อธิป ตันติวรวงศ์ กล่าว
นอกจากนี้อินโนพาวเวอร์ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ด้วย คือ แพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate และการลงทุนในกองทุนและสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายกองทุน EIV ในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ร่วมลงทุนกับบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จอีวี แบบครบวงจร มูลค่า 50 ล้านบาท
รวมทั้งยังขยายเครือข่ายพันธมิตรไปสู่อุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาล เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปให้บริการกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ของโรงงานนํ้าตาล 5 แห่ง จากการใช้แพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อนำไปซื้อขาย ให้ธุรกิจมีเงินนำไปใช้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ถือเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการคาร์บอน ฟุตพริ้นต์ อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยผู้ประกอบการเรียนรู้กระบวนการขึ้นทะเบียนการขอรับรอง REC โดยมีอินโนพาวเวอร์ช่วยเป็นพี่เลี้ยง เป็นการสื่อให้เห็นถึงอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
เป้าหมายอนาคตที่สำคัญ อินโนพาวเวอร์อยากให้แพลตฟอร์มเข้าถึงประชาชนทุกคน ที่จะมาร่วมมือกันลดการปล่อยคาร์บอน โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ทุกคนมีทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อม แบบใช้งานง่าย สะดวก ไม่ต้องลำบาก เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีโลกได้ และที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้อยู่บนโลกที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน.