แพทย์หัวใจเผยข้อมูลโรคหัวใจและหลอดเลือดในเอเชียแปซิฟิก จากงานประชุมวิชาการแพทย์โรคหัวใจ APSC 2023 Congress พบสถิติที่น่าตกใจ ดังนี้
- WHO ระบุ โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกมีประชากรมีภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุดในโลก (50%)
- ระหว่างปี 2533-2562 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 12% โดยตัวเลขในปี 2562 ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตถึง 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 58% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก
- หายใจถี่ คลื่นไส้ เหนื่อยล้า เป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว แต่คนส่วนใหญ่ยังสับสนว่าเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ 16.1% ของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดที่โรงพยาบาล (ที่มา: Roche)
- ในประเทศไทย มีการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน หรือ 58,681 คนต่อปี และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปี (ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข)

ด้วยความน่ากลัวของโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้สมาคมโรคหัวใจแห่งเอเชียแปซิฟิก (The Asian Pacific Society of Cardiology: APSC) เป็นตัวแทนของสมาคมโรคหัวใจ 23 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดการประชุมใหญ่ APSC Congress ทุกปี โดยในปี 2566 เป็นครั้งที่ 27 จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี Singapore Cardiac Society เป็นเจ้าภาพ ทั้งยังมีภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานพร้อมกับให้การสนับสนุน เช่น “โรช ไดแอกโนสติกส์” (Roche Diagnostics)
APSC 2023 Congress มีการรวมตัวของคณาจารย์ แพทย์ และเจ้าหน้าด้านการแพทย์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการนำเสนองานวิจัยใหม่ ๆ ด้านของโรคหัวใจ โดยหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยที่เข้าร่วมงานนี้คือ “นายแพทย์ เอกราช อริยะชัยพาณิชย์” อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกรรมการสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทย

รักษาหายได้ หากวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ
นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ กล่าวว่า โรคหัวใจมีหลายชนิด สามารถแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจ และความพิการแต่กำเนิดของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อ และเยื่อหุ้มหัวใจหัวใจ ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure: HF) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับเหนึ่งในบรรดาโรคหัวใจ ซึ่งเป็นอาการที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้พอต่อความต้องการของร่างกาย และอัตราการเสียชีวิตจากภาวะนี้ยังสูงกว่าโรคมะเร็งหลาย ๆ ชนิดอีกด้วย โดยประชากรประมาณ 1% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีภาวะหัวใจล้มเหลว และ 10% คือกลุ่มผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
“การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นทำได้ยาก เนื่องจากอาการไม่เฉพาะเจาะจง และในระยะแรกอาจไม่สามารถสังเกตเห็น แต่หลังจากนั้นจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ขา ท้อง ข้อเท้า และเท้าบวม เหนื่อยล้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม 30% ของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ในขณะที่อีก 30% สามารถควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวได้”

โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่บ่งชี้ทางชีวภาพ หรือ biomarker เรียกว่า NT-proBNP (N-terminal prohormone of brain natriuretic peptide) ที่สามารถตรวจหาภาวะหัวใจล้มเหลวได้จากโปรตีนที่หลั่งออกมาจากหัวใจสู่กระแสเลือด เป็นการตรวจเลือดหาโปรตีนที่บ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ โดยโปรตีนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเมื่อหัวใจทำงานหนัก หากมีโปรตีนชนิดนี้ออกมามากก็เป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังมีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้มีอยู่แล้วในหลายโรงพยาบาล

ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ในเอเชีย
รองศาสตราจารย์ เดวิด ซิม หัวหน้าและที่ปรึกษาอาวุโส The National Heart Centre Singapore (NHCS) หนึ่งในตัวแทนจากประเทศสิงคโปร์ที่ข้าร่วม APSC 2023 Congress กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเกี่ยวข้องกับภาระทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะการดูแลรักษาโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่ดีพอนำไปสู่การเพิ่มค่าใช้จ่ายจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในระบบสาธารณสุข โดยมีการประมาณค่ารักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวในเอเชียแปซิฟิกว่ารวมกว่า 48 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ถึงแม้ภาวะหัวใจล้มเหลวกำลังเป็นภัยเงียบ ๆ ที่คุกคามเอเชียแปซิฟิก และมีสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวนครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ในเอเชีย แต่ว่าความใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ของคนในภูมิภาคกลับไม่กระเตื้องขึ้น ดังนั้น APSC 2023 Congress จึงต้องการสร้างความตระหนักให้ทุกประเทศร่วมแก้ไขระบบนิเวศของการรักษาโรคภาวะหัวใจล้มเหลว”

องค์ประกอบสำคัญที่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในมุมของ “รศ.เดวิด” ซิม มี 4 ข้อ ดังนี้
1. Awareness สร้างความรู้สาธารณะและความตระหนักเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด
2. Diagnosis and Risk Assessment มีการวินิจฉัยและการประเมินความเสี่ยงด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือวินิจฉัยเฉพาะทาง เช่น NT-proBNP
3. Availability of Treatment สร้างความพร้อมในการรักษา เช่น แนวทางการรักษาของแพทย์
4. Discharge & Follow-up Care มีการติดตามดูแลผู้ป่วยหลังปล่อยกลับบ้าน เพื่อป้องกันการกลับไปรักษาในโรงพยาบาลซ้ำ ๆ

แนวทางรักษาแบบ STRONG-HF โดยใช้ NT-proBNP
ศาสตราจารย์ อเล็กซานเดร เมบาซ่า หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีและการดูแลผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาล Lariboisière กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นำเสนอแนวทาง STRONG-HF ภายในงาน APSC 2023 Congress ว่า เป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อเพิ่มความปลอดภัย (Safety) ความทน (Tolerability) และประสิทธิภาพของการรักษาอย่างรวดเร็ว (Rapid Optimization) ด้วยเครื่องมือ NT-proBNP เพื่อการทดสอบ (TestinG)
“สูตรการรักษาแบบ STRONG-HF ส่งผลให้ความเสี่ยงในการกลับเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและการเสียชีวิตลดลง 34% ภายใน180 วัน ลดการกลับมารักษาซ้ำเมื่อเทียบกับการดูแลตามวิธีปกติดั้งเดิม โดยมีการใช้การตรวจติดตามระดับไบโอมาร์คเกอร์ NT-proBNP อย่างสม่ำเสมอ”

ภาวะหัวใจล้มเหลวถือเป็นภาระอันหนักหน่วงทั้งในมุมการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การตรวจคัดกรองอย่างเช่น NT-proBNP จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย และการบริหารจัดการผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น