จากกรณี ข่าวเศร้าของวงการนักเขียนไทย หลังน คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือที่หลายคนรู้จักในนามปากกา “ทมยันตี” นักเขียนชื่อดัง และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 เสียชีวิตแล้ว ภายในล้านนาเทวาลัย หมู่ 9 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สร้างความโศกเศร้า และความอาลัยกับเหล่าแฟนๆ เป็นจำนวนมากนั้น

ย้อนประวัติศิลปินแห่งชาติ ‘ทมยันตี’ ตำนานผู้สร้างวรรณกรรมไทยอันเลื่องชื่อ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า คุณหญิงวิมล ถึงแก่กรรมในวันนี้ (13ก.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. โดยถึงแก่กรรมในขณะนั่งสมาธิ ที่ล้านนาเทวาลัย ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สิริรวมอายุ 84 ปี ในส่วนกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ การสวดพระอภิธรรมศพ อยู่ระหว่างทายาทกำหนดวัน เวลา สถานที่ และทาง สวธ. จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป นอกจากนี้ สวธ. ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้ว เมื่อศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่างๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

 สำหรับประวัติของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2479 เป็นนักเขียนนวนิยายยอดนิยมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ใช้นามปากกา “ทมยันตี”, “ลักษณาวดี”,  “โรสลาเรน”  และ “กนกเลขา” ต่อมา ได้สร้างนามปากกาอีก 3 นามปากกา คือ “มายาวดี”, “ทยุมณิ” และ “ราตริมณิ” ทั้งนี้ ในจำนวนนามปากกาต่างๆ ดังกล่าว “ทมยันตี” เป็นนามปากกาที่มีผู้รู้จักมากที่สุด

คุณหญิงวิมล ได้สร้างสรรค์ผลงานซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่นักอ่านคนไทยเท่านั้น มีนวนิยายหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น คู่กรรม แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น พิษวาส แปลเป็นภาษาอังกฤษ และบทประพันธ์จำนวนมากถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์ นวนิยายของทมยันตีมีพลังทางวรรณศิลป์อย่างสูง สามารถโน้มน้าวอารมณ์ผู้อ่านให้เพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง ตัวละครมีชีวิตชีวา ปลูกฝังความคิดเรื่องความกตัญญู ความเคารพกฎระเบียบ ความเสียสละ ความรักชาติรักแผ่นดิน  ความยึดมั่นในความดี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมุ่งสร้างบุญละบาป ความเป็นผู้หญิงที่แกร่ง อดทน ความเชื่อ และเคารพตนเอง สร้างสรรค์ด้วยภาษาที่กินใจและรสวรรณศิลป์ที่ตรึงอารมณ์อย่างหาใครเปรียบได้ยาก  นวนิยายของ “ทมยันตี” จึงไม่เพียงให้ความบันเทิงใจแต่กระตุ้นสำนึกและจิตวิญญาณด้วย