พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   (กสทช.)  ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดผยว่า กสทช.เตรียมเสนอแผนการเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุดิจิทัล เพื่อให้มีคลื่นเพียงพอในการประกอบธุรกิจสำหรับวิทยุชุมชน 3,909 สถานี ด้วยการสร้างโครงข่ายวิทยุดิจิทัลขึ้นมาใหม่ จากการศึกษา พบว่าต้องใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท สำหรับการขยายโครงข่ายเป็นเวลา 3 ปี ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 50-60% ของประเทศ ขณะที่เครื่องรับวิทยุดิจิทัลมีราคาอยู่ที่ประมาณกล่องละ 1,000 บาท และจะต้องมีการพูดคุยกับผู้ผลิตเครื่องรับวิทยุในตลาดในการผลิตให้รองรับด้วยด้วย

“วิทยุชุมชนที่มีผู้ให้บริการอยู่ 3,909 สถานีจะสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ทดลองออกอากาศ 5 ปี ในเดือน ธ.ค.67  ซึ่งหากจัดสรรคลื่นเป็นระบบใบอนุญาตแล้ว จะต้องไม่ให้เกิดคลื่นรบกวนกับคลื่นของผู้ที่ได้รับ ใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ แต่จะทำให้คลื่นไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่  ซึ่งหากวิทยุชุมชนยังต้องการทำธุรกิจต่อไปบนคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม แบบเดิม กสทช.จะสามารถจัดสรรคลื่นในระบบใบอนุญาตได้เพียง 2 รูปแบบ คือ จัดสรรโดยไม่เกิดคลื่นรบกวนกัน จำนวน 700 สถานี และ การจัดสรรแบบคลื่นรบกวนกันเอง ได้จำนวน 2,800 สถานี  ซึ่งจะทำให้วิทยุชุมชนตกขบวนไม่สามารถทำต่อได้กว่า 1,000 สถานี”

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าวต่อว่า  จาการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ พบว่าเลือกรูปแบบ 2 ทำให้ 1,000 สถานี ไม่สามารถเข้าสู่ระบบใบอนุญาตได้ ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชน หรือกลุ่มคน ขนาดเล็กที่มารวมตัวกันทำธุรกิจวิทยุกระจายเสียง  ซึ่งการเปลี่ยนสู่วิทยุดิจิทัลตามแผนที่จะเสนอเพื่อให้มีคลื่น เพียงพอในการประกอบธุรกิจ แต่จำเป็นต้องใช้งบประมาณดังกล่าว ซึ่งจะเสนอรัฐบาลใหม่ว่ามีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร และจะสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงฟรีด้วยการสนับสนุนงบหรือไม่

ทั้งนี้หากรัฐไม่มีงบประมาณสนับสนุน กสทช.ก็มีทางเลือกอาจจะเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการโครงข่าย เข้ามารับใบอนุญาตในการให้บริการลักษณะเดียวกับโครงข่ายทีวีดิจิทัล เพื่อให้บริการทั่วประเทศ หรืออาจจะเป็นในรูปแบบการให้ใบอนุญาตระดับภูมิภาค หรือ ชุมชน ซึ่งขึ้นอยู่กับชุมชนหรือภูมิภาคนั้นๆ ยังมีโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้ อยู่หรือไม่  ซึ่งการดำเนินการของ กสทช. ก็เพื่อให้ธุรกิจวิทยุสามารถที่จะประกอบธุรกิจอยู่ได้  และเป็นการเสนอทางเลือก ไม่เช่นนั้นแล้ว หากไม่ดำเนินการเมื่อระยะเวลาการทดลองออกอากาศหมดลง ผู้ประกอบธุรกิจวิทยุชุมชน ก็จะไม่สามารถออกอากาศได้อีก

“แผนดังกล่าว ทาง กสทช.มีกำหนดการเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม หรือ โฟกัสกรุ๊ป ใน 4 ภูมิภาค ช่วงเดือน ต.ค.66 นี้ เพื่อนำความคิดเห็นมาประกอบในการพิจารณาเดินหน้าออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตภายในกลางปี 67 ก่อนที่การอนุญาตทดลองออกอากาศของ วิทยุชุมชนจะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. 67” พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าว